นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการสินค้าส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวดี รวมถึงการนำเข้าสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้า และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางด้านราคาของไทยในระยะข้างหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เท่ากับ 110.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 0.8 เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางกลุ่มที่ปรับลดลงจากอุปทานส่วนเกิน และการแข่งขันทางด้านราคา ประกอบกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น จากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางการผลิตของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลให้ราคาส่งออกของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกยังคงปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ ทองคำ ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจากความกังวลด้านนโยบายทางภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค สำหรับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI ) และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตลาดยังมีความต้องการสูง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารสุนัขและแมว ตามความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงแบบสดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการ ของตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้า แร่และเชื้อเพลิง กลับมาหดตัวร้อยละ 5.1 โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ตามความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมันชะลอตัว และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลง ร้อยละ 2.3 ได้แก่ ข้าว ตามอุปทานข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกชะลอลง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามความต้องการที่ลดลง เนื่องจากเผชิญกับคุณภาพของผลผลิตที่ลดลง รวมถึงการแข่งขันจากคู่แข่ง ซึ่งเสนอราคาที่ถูกกว่าไทยดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เท่ากับ 114.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ตามความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการผลิต การลงทุน และการบริโภคของประเทศ โดยหมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประเทศ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.7 ได้แก่ ทองคำ ได้รับปัจจัยหนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ทำให้ความน่าสนใจในการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น สำหรับอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า และปุ๋ย ตามความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และพืชผลทางการเกษตร หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.6 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการลงทุนของภาคการผลิต และภาคบริการเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบางภูมิภาคยังเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็น
ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง คือ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงเล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.1 จากรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ตามความต้องการที่ชะลอลง เนื่องจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวช้า
สำหรับแนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน แม้จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ฐานราคาปี 2567 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2568 2) สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรบางประเภท ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 3) สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี 4) ราคาพลังงานและวัตถุดิบ ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และ 5) การเร่งนำเข้าสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจช้ากว่าที่คาด 2) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค 3) ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้า และภาษีของสหรัฐ ฯ 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงน้อยกว่าปี 2567 อาจส่งผลให้ผลผลิต สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น จนนำมาสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน 5) การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และ 6) ความผันผวนของค่าเงินบาท
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี