ในปี 2568 ผู้ประกอบการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ารวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แรงกดดันจากการแข่งขัน ต้นทุนทางการเงินและการดำเนินงานที่สูง คุณภาพสินทรัพย์คาดว่าจะฟื้นตัวจากการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดและมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กำไรสุทธิจะยังคงได้รับแรงกดดันจากสินเชื่อที่ชะลอตัว ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ และพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี แต่ต้นทุนด้านเครดิตคาดว่าจะทรงตัว
โครงสร้างและห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ (Business Structure and Value Chain)
ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ปัจจุบันมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจำนวน 8 แห่งและสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวน 115 แห่ง โดยประกอบด้วยผู้ให้บริการ 2 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยหน่วยงานภายในของธนาคาร 2) กลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคาร เช่น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ซึ่งอยู่ภายใต้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) นอนแบงก์อื่นๆ เช่น บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AEONTS) โดยบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบันมีเพียง KTC และ AEONTS เท่านั้น
ภาพรวมอุตสาหกรรม (Industry Overview)
หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกดดันการเติบโตของสินเชื่อการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอตัวลงเนื่องมาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและ หนี้ครัวเรือนที่สูง สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและ SME ประสบกับปัญหาการเงิน โดยหนึ้ครัวเรือนได้ปรับเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 84.1% ของ GDP ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ระดับเกิน 90% แม้จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 89.0% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็นสัดส่วน 8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากระดับ 6%-7% ก่อนหน้าปี 2562 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงเนื่องจากมีภาระการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลง ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
สินเชื่อคงค้างหดตัวจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน
ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.97 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2567 หรือ ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ภายหลังจากที่เติบโต 3% ในปี 2566 ทั้งนี้ เนื่องมาจากความเข้มงวดในการอนุมติสินเชื่อของผู้ประกอบการ และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment) ของบัตรเครดิตขึ้นมาเป็น 8% เมื่อต้นปี 2567 จากระดับ 5% ในปี 2566 ทำให้มีการชำระคืนสินเชื่อมากขึ้น
ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 โดย ณ สิ้นปี 2567 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 4.8 แสนล้านบาท ลดลง 5% ในปี 2567 เทียบกับที่ชะลอตัวลง 1% ในปี 2566 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการปรับเกณฑ์ในการให้สินเชื่ออย่างรัดกุมมากขึ้น ประกอบกับมีการตัดหนี้สูญ (Write Off) เพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในกรอบความเสี่ยง
ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565
หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าทำให้รายได้ของลูกหนี้บางกลุ่มยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ ส่งผลให้ลูกหนี้ด้อยคุณภาพทั้งธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทยอยสิ้นสุดลง และโดยเฉพาะเมื่อมาตรการผ่อนปรนทางบัญชีของ ธปท. ในการจัดชั้นหนี้หลังการปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลง ณ ปลายปี 2566 ทำให้คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงต่อเนื่อง
NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ 2.6% ณ สิ้นปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.5% ณ สิ้นปี 2566 ในขณะที่ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% ณ สิ้นปี 2567 จาก 4.4% ณ สิ้นปี 2566 เนื่องจาก การตัดหนี้เสียของกลุ่มนอนแบงก์ และการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งช่วยให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ อย่างไรก็ตาม NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าบัตรเครดิตเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม หากเทียบระหว่างกลุ่มธนาคารและกลุ่มนอนแบงก์ พบว่ากลุ่มนอนแบงก์ NPL ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์เนื่องจากมีระบบการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นกว่า ทำให้สามารถเร่งปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้เสียขายออกไปโดยเร็ว อีกทั้งมีกระบวนการตามหนี้ที่ใกล้ชิดกว่า นอกจากนี้ สินเชื่อของกลุ่มนอนแบงก์ยังมีการขยายฐานสินเชื่อที่มากกว่ากลุ่มธนาคารที่มีกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดกว่า อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่องทั้งลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมาตรการเหล่านี้มุ่งหวังที่จะช่วยลดภาระทางการเงินของลูกหนี้
การแข่งขัน (Competition)
การแข่งขันของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีความรุนแรง เห็นได้จากผู้ประกอบการมีการออกกิจกรรมส่งเสริมการตลาดออกมาเพื่อรักษาฐานสมาชิกและกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานข้อมูลของลูกค้าจำนวนมากจะได้เปรียบในเรื่องของการทำการตลาดที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งการนำฐานข้อมูล (Big Data) เข้ามาใช้ในการออกแบบโปรโมชั่นเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า
กลุ่มผู้ประกอบการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่คุณภาพสินทรัพย์ยังดีอยู่
สินเชื่อบัตรเครดิต: ผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ปัจจุบันครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 50% ตั้งแต่ปี 2565 หลังจากที่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้แยกธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลออกจากธนาคารและตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Spin-off) โดยใช้ชื่อ CardX เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานในช่วงปลายปี 2565
ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันของสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงสูงเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ครบวงจรสำหรับลูกค้าธนาคาร ส่วนนอนแบงก์ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูงยังคงเป็นผู้ประกอบการที่มีการกระจายกลุ่มลูกค้ากว้างกว่า ทำให้ประหยัดต่อขนาดของต้นทุนในการดำเนินงานและการทำการตลาด ปัจจุบันกลุ่มนอนแบงก์มีสัดส่วนบัตรเครดิต 64% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มี 36% โดยสินเชื่อต่อบัญชีของนอนแบงก์อยู่ที่ 1.6 หมื่นบาท ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ 2.5 หมื่นบาท
แม้ว่าในปี 2567 จำนวนบัตรเครดิตในอุตสาหกรรมไม่เติบโตมาก เนื่องจากการชะลอการปล่อยสินเชื่อและการปิดบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ในปี 2568 การแข่งขันของสินเชื่อบัตรเครดิตน่าจะยังคงรุนแรงโดยทำการตลาดเพื่อรักษาฐานสมาชิกเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี รวมทั้งนำเสนอแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้จ่ายและการใช้วงเงินที่มีอยู่ พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าระดับบนที่มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไปที่กำลังซื้อยังดีอยู่และวงเงินที่ได้รับต่อบัตรเครดิตสูงกว่า
สินเชื่อส่วนบุคคล: การแข่งขันในปี 2568 จะเป็นการเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพสินทรัพย์ดี รวมทั้งการกระตุ้นการใช้สินเชื่อกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ผู้ประกอบการนอนแบงก์น่าจะยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าทั้งสินเชื่อรวมและจำนวนบัญชี โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 63% และ 79% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีรายได้ระดับ 15,000 บาทต่อเดือนหรือน้อยกว่าจึงมีฐานลูกค้าที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มนอนแบงก์มียอดสินเชื่อต่อบัญชีที่ 2.1 หมื่นบาทซึ่งต่ำกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ 4.7 หมื่นบาท
โดยช่องทางการหาลูกค้าใหม่จะมาจากทางหน่วยงานภายนอก (Outsource) เป็นหลัก
ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงขยายตัวได้ตามรายจ่ายเพื่อการบริโภคที่เติบโต
รายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Private Consumption Expenditure) เติบโตหลังโควิด จากการฟื้นตัวของการจ้างงานและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ซึ่งการเติบโตของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสอดคล้องไปกับรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่เติบโตขึ้นจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของรัฐบาล เช่น ช้อปดีมีคืน (2563 – 2566) และ Easy E-Receipt ในปี 2567 รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
รายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลในปี 2567 อยู่ที่ระดับ 10.8 ล้านล้านบาท หรือ เติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20%-21% ของรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล โดยเติบโตในระดับ 3.0% ต่ำกว่าการบริโภคส่วนบุคคลโดยรวม เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงเติบโตดีในกลุ่มกำลังซื้อสูง จากการทำโปรโมชั่นและการใช้จ่ายในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลในปี 2568 น่าจะเติบโตในอัตรา 3.4% ชะลอตัวลงหลังจากที่ขยายตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการทางภาครัฐ เช่น โครงการ Easy E-Receipt 2.0, เงินโอน 1 หมื่นเฟส 2 และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตคาดว่าน่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเช่นกัน
ผลประกอบการของกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Group Performance)
ที่มา: ข้อมูลบริษัท และ ทริสเรทติ้ง (อัตราการเติบโตเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า), งบ AEONTS รอบปีบัญชี 2567 (1 มีนาคม 2567 – 28 กุมภาพันธ์ 2568)
ส่วนแบ่งทางการตลาดยังแข็งแกร่งแม้สินเชื่อชะลอตัว:
ถึงแม้ว่าเงินให้สินเชื่อคงค้างของ KTC และ AEONTS จะชะลอจากปีก่อนหน้าแต่ทั้งสองบริษัทยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งไว้ได้ ในปี 2567 พอร์ตสินเชื่อของ KTC ประกอบไปด้วยสินเชื่อบัตรเครดิตสัดส่วน 66% สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน 29% และอื่นๆ 5% โดยส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 15% สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้นอยู่ที่ระดับ 6.6% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดรดิตในปี 2567 เติบโต 10% มากกว่าอุตสาหกรรมซึ่งขยายตัว 2.6% จากการตลาดเชิงรุกและการขยายไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้สูง ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อของ AEONTS บริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน 48% สินเชื่อบัตรเครดิต 43% และอื่นๆ คิดเป็น 9% สินเชื่อบัตรเครดิตมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 8% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอยู่ที่ 9%
คุณภาพสินทรัพย์ยังสามารถบริหารจัดการได้:
คุณภาพสินทรัพย์ของ KTC ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดของบริษัท การปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและเงินสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพียงพอ ณ สิ้นปี 2567 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.0% จาก 2.2% ณ สิ้นปี 2566 จากการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ของ บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) ซึ่งเป็นบริษัทลูก สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยอยู่ที่ระดับ 1.3% และ 2.5% ตามลำดับ สำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 400% ในส่วนของ AEONTS NPL Ratio โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่ 5.0% มาอยู่ที่ 5.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากฐานลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายที่จะขายหนี้เสียช่วงไตรมาส 4 ซึ่งจะส่งผลให้ NPL Ratio อาจจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย NPL Coverage Ratio ยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 150%
กำไรสุทธิได้รับแรงกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยที่ชะลอตัวและการตั้งสำรอง:
KTC ยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไร โดยมีกำไรสุทธิ 7.39 พันล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.9% แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยลดลงตามสินเชื่อที่ชะลอตัว ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่สูงขึ้นจากนโยบายการตัดหนี้สูญและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าธรรมเนียมรับจากการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น และยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ ขณะที่ AEONTS มีกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนของรอบบัญชีปี 2568 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ระดับ 2.2 พันล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยจะชะลอตัวลงจากสินเชื่อที่หดตัว แต่อัตราผลตอบแทนของดอกเบี้ยของ AEONTS สูงกว่า KTC เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม และค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเร่งการตั้งสำรองและตัดหนี้สูญในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ทำให้ ROE ลดลง ถึงแม้มีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากการขายหนี้และกำไรจากเงินลงทุนของบริษัทย่อยเข้ามาช่วยลดทอน
แนวโน้มใน 12 เดือนข้างหน้า: สินเชื่อเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การเติบโตของสินเชื่อเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป: ทริสเรทติ้งมองว่าการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเติบโตอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อใหม่เพิ่มความเข้มงวดและระมัดระวังมากขึ้นในการคัดกรองลูกหนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าคุณภาพดีที่มีอยู่จำกัด หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีและทั่วถึง จะทำให้ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตกลับมาเติบโตอีกครั้ง
คุณภาพสินทรัพย์คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย: ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้คุณภาพหนี้ที่ปล่อยใหม่ดีขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยงของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เช่น การผ่อนปรนอัตราการชําระขั้นต่ำสําหรับสินเชื่อบัตรเครดิตให้คงอยู่ที่ระดับ 8% ในปี 2568 การรวมหนี้ และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ส่งผลให้ลูกหนี้ยังน่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างใหม่
ค่าใช้จ่ายที่ยังคงสูงเป็นปัจจัยกดดันกำไร: ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะทรงตัว เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงกดดันรายได้ดอกเบี้ย และส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่ยังสูง เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อชำระคืนหนี้มีอัตราที่สูงกว่าภาระหนี้เดิมที่ครบกำหนด อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ยังคงสูงจากการบริหารจัดการลูกหนี้ รวมทั้งการลงทุนทางด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการดำเนินงาน Digitalization ในอนาคต อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิน่าจะถูกชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายด้านเครดิตมีแนวโน้มที่จะลดลงจากคุณภาพลูกหนี้ที่ดีขึ้น และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมรับที่เติบโตจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เติบโตและหนี้สูญที่รับคืนจากกลุ่มลูกหนี้ที่มีการตัดหนี้สูญไปก่อนหน้านี้
ปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors)
ธุรกิจกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเผชิญความเสี่ยงหลัก ได้แก่ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk): แหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นนอนแบงก์ มีความมั่นคงน้อยกว่าบริษัทลูกของธนาคาร เนื่องจากไม่สามารถระดมเงินฝากหรือพึ่งพาธนาคารแม่ได้ แหล่งเงินทุนของบริษัทเหล่านี้นอกจากฐานทุน จะมาจากเงินกู้จากสถาบันการเงินและการออกตราสารหนี้ ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาสภาพคล่องหากไม่สามารถจัดหาเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้ได้ ความเสี่ยงนี้สามารถลดลงได้หากบริษัทมีการจัดการ ความสอดคล้องของอายุสินทรัพย์และหนี้สินที่ดี กระจายวันครบกำหนดของเงินกู้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจาก การชำระคืนของลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงนี้อาจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดตึงตัวจากความไม่มั่นใจของนักลงทุน
ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk): ทริสเรทติ้งยังมีความกังวลว่าคุณภาพสินทรัพย์ทั้งระบบอาจจะกลับมาอ่อนแอลงอีกภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงหากสภาพเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและไม่ทั่วถึงลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนใหญ่มักไม่มีหลักประกัน ทำให้หากลูกหนี้ผิดนัดชำระ เจ้าหนี้อาจไม่สามารถเรียกคืนเงินต้นได้เต็มจำนวน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตต่ำหรือรายได้ไม่มั่นคงอาจมีโอกาสผิดนัดสูง โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวช้า ดังนั้นการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์
ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk): ทางด้านกระบวนการดำเนินงานภายใน การใช้แบบจำลองให้คะแนนเครดิต (Credit Scoring) อาจมีข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า บริษัทควรพัฒนาระบบและกระบวนการภายในปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งกระบวนการติดตามหนี้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้เกิดหนี้สูญเพิ่มขึ้น การใช้วิธีติดตามหนี้ที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหาด้านกฎหมายและภาพลักษณ์ของบริษัท ทางด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์และการโจมตีทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการโจรกรรมข้อมูลลูกค้าอาจนำไปสู่ความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียงของบริษัท หรือ อาจทำให้ระบบปฏิบัติการของบริษัทหยุดชะงักได้
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านบุคลากร อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการทำงาน การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการทุจริตฉ้อโกงได้
ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk):
ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น: จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย บริษัทสินเชื่อและผู้ออกบัตรเครดิตมักพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดเงินหรือพันธบัตร หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรลดลง และมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกค้าสูงขึ้น และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Regulatory Risk): ในอนาคตอาจมีการออกกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะการควบคุมเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวงหรือการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและกลยุทธ์ของบริษัท อาทิเช่น หน่วยงานกำกับดูแลอาจกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อลดภาระของผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ 16% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยเรียกเก็บ ส่งผลกระทบต่อรายได้และทำให้ต้องจำกัดกลุ่มลูกค้าโดยเน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไม่สูงมาก และส่งผลต่อการขยายสินเชื่อได้เช่นกัน รวมทั้งการปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต
นอกจากนี้ การกำกับดูแลด้านการให้บริการลูกค้าอย่าง เป็นธรรม (Market conduct) กฎระเบียบเกี่ยวกับ การคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ การห้ามคิดค่าธรรมเนียมเกินกำหนด หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ และลดรายได้จากค่าติดตามทวงถามหนี้ แม้การกำกับดูแลในเรื่องต่างๆเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ก็เพิ่มต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี