นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ นำคณะกระทรวงพาณิชย์ บินเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายโอกาสการค้า การลงทุน ไทย-สปป.ลาว ในภารกิจการเดินทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้า และโลจิสติกส์ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขยายตลาดทุเรียนและผลไม้ไทยอื่นๆ ในจีนผ่านโครงข่ายโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อจากไทยผ่านลาวสู่จีน
นายนภินทรกล่าวว่าได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเส้นทางการค้าของลาว ได้แก่ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง และบริษัท Vientiane Logistics Park (VLP) โครงการท่าบกท่านาแล้งเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับเส้นทางเชิงพาณิชย์ อันจะส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้มีมูลค่าสูงขึ้นจากการพัฒนาเส้นทางร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย ลาว จีน) ทั้งเส้นทางที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นเส้น R3A จากเชียงของ ห้วยทราย ผ่านบ่อเต็นเข้าโม่ฮานของจีน และเส้น R12 ซึ่งเป็นเส้นทางผลไม้หลักจากนครพนมเข้าสู่ลาวที่ด่านท่าแขก ผ่านเวียดนามที่ด่านลางเซิน หูหงิ เข้าจีนที่ด่านโหยวอี้กวน ที่มีการปรับปรุงเส้นทางให้มีความพร้อมมากขึ้น
สำหรับเส้นทางที่มีศักยภาพในอนาคตที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของ สปป.ลาว โดยเฉพาะการก่อสร้างทางด่วนห้วยทราย-
บ่อเต็น (เชื่อมเส้นทาง R3A ไทย-ลาว-จีน) และการก่อสร้างทางรถไฟ สปป.ลาว - เวียดนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางหน่วยงานภาครัฐของลาวได้เตรียมการการก่อสร้างขณะนี้หากเส้นทางดังกล่าวแล้วเสร็จจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยังจีนมากขึ้น
ในส่วนของท่าบกท่านาแล้งที่มีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าไทย-ลาว รวมถึงการจัดการการขนส่งสินค้าทางรถไฟ (Thanaleng Dry Port: TDP) และ Vientiane Logistics Park (VLP) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ Lao Logistics Link : LLL ซึ่งมีการเตรียมการโครงการท่าบกท่านาแล้ง Single window อันเป็นโครงการที่มีการเพิ่มจุดตรวจปล่อยสินค้าเกษตรที่ท่าบกท่านาแล้งแล้วส่งตรงไปยังคุณหมิง ประเทศจีน หากแล้วเสร็จจะเป็นโอกาสอันดีต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทางตอนใต้และตะวันตก ที่จะช่วยให้สินค้าเกษตรไทยไปถึงคุนหมิงได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังได้พบกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตรไทยไปจีน ของบริษัท Speed International Transport Lao Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทยและฮ่องกงของจีน เพื่อขยายโอกาสมารองรับการขนส่งทางรถไฟลาว-จีน มีระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร จากคุนหมิง ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนปัญหา อุปสรรคการขนส่งผลไม้ทางรถไฟลาว-จีน ที่จะเกิดขึ้นการขนส่งสินค้าของไทยประเด็นต่างๆอาทิ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์และรถหัวลากไม่เพียงพอ ความล่าช้าจากการตรวจปล่อยสินค้าที่หน้าด่านของจีน เป็นต้น ซึ่งคณะกระทรวงพาณิชย์เอง จะเดินทางไปยังสิบสองปันนา และคุนหมิงโดยจะนำข้อกังวลดังกล่าวไปพูดคุยกับทางจีนเพื่อให้ลดปัญหาและอุปสรรคของการนำเข้าสินค้าเกษตรไทยไปยังจีนในฤดูกาลผลไม้นี้
“จากการพบปะหารือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของทางฝั่ง สปป.ลาว เห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโลจิสติกส์ผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางทางใต้และทางตะวันตกของจีน เป็นเส้นทางการค้าศักยภาพที่จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการนำสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรไปจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย-ลาว จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย“ นายนภินทร กล่าว
หลังเสร็จสิ้นการหารือ รมช.นภินทรและคณะ ได้เยี่ยมชมสถานีเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายสินค้ารถไฟลาว-จีน เพื่อดูรูปแบบการจัดการขนส่งสินค้าของบริษัทรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาวและจีน บริหารงานโดยบริษัททางรถไฟลาว-จีน เส้นทางขนส่ง มีระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร (ระยะทางในจีน ประมาณ 600 กม. ระยะทางในลาว ประมาณ 414 กม.) และในลาวมีสถานีขนส่งโดยสาร 8 สถานี ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่นำสินค้าไทย ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภค-บริโภคจากไทยมายัง สปป.ลาว และที่ผ่าน สปป.ลาวไปยังจีน ซึ่งเป็นเส้นทางศักยภาพและสามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับไทยได้เป็นอย่างดี
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทยลาว ปี 2567 รวม 286,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.13% มูลค่าการค้าผ่านแดนไทย-ลาว-จีน ปี 2567 รวม 396,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.16%
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี