ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ได้มีมติอนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในประเด็นดังนี้ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง(การขายชอร์ต) 2.การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน 3.การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย4.การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. 5.การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหายและการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด 6.การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ7.มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งความเสียหายและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในตลาดทุนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงในหลายๆ มิติ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ตเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส ด้านการกำกับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนการรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญ ครบถ้วนและเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ด้านมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเพิ่มอำนาจในการทำคดีของ ก.ล.ต.
ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการกำกับดูแล โดยการออกเป็น พ.ร.ก. ตามที่ ครม. เห็นชอบจะช่วยให้การดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อตลาดทุนได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งการเสริมสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
สำหรับกรณีการเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มี high impact ก.ล.ต. มีอำนาจในการทำคดีและเมื่อสรุปสำนวน เสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องซึ่งเป็นไปตามหลักการ check and balance ตามกระบวนการยุติธรรมการดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต. สามารถบูรณาการพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการร่วมสอบสวนคดีโดยใช้ความเชี่ยวชาญมาช่วยให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในกรณี high impact รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี