นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์จากต่างประเทศทุกคันที่
ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยเริ่มจากอัตราฐานที่ 2.5% ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 25% อัตราภาษีใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของทรัมป์ครั้งนี้คาดว่าจะทำให้ส่งออกของไทยลดลงประมาณ 10% โดยปี 2567 ไทยส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออก ทั้งหมด 31,041.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจากกรมศุลกากร)
ปี 2567 ไทยส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กไปสหรัฐฯ มูลค่า 320 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ มีสัดส่วนการส่งออก 6.20% ขณะที่ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่า 1,566 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ มีสัดส่วนการส่งออก 15% และเครื่องยนต์สันดาปมูลค่า 231 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กมูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 46% ชิ้นส่วนยานยนต์ส่งออก 272 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.8% และเครื่องยนต์สันดาปมูลค่า 45.58 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 31%
“จะเห็นได้ว่าในปี2567 ไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐจำนวนมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีมูลค่า 1,566 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนส่งออก 15% นับเป็นอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกโดย 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐมีมูลค่า 272 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.95% หรือ คิดเป็นสัดส่วนส่งออกถึง 16% มาตรการภาษีดังกล่าวจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยโดยตรงและอาจยืดเยื้อไม่เหมือนช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดผลกระทบแค่ระยะสั้นหลังจากนั้นยอดการส่งออกก็กลับมาปกติ โดยปี 2566 ส่งออกได้กว่า 1.1 ล้านคัน”นายสุรพงษ์กล่าว
เบื้องต้นผลกระทบอาจจะไม่มาก เพราะกระทบเพียงส่งออกรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 6.20% แต่การขึ้นภาษีระยะต่อไปจะกระทบกับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยโดยตรงเพราะไทยส่งออกไปสหรัฐถึง 15% ผลกระทบจะเห็นชัดประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และประเมินได้ว่าจะกระทบส่งออกไทยมากน้อยเพียงใด เบื้องต้นจะพิจารณาว่าจะคุ้มค่าหรือไม่หากไปตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่สหรัฐแทนการส่งออก และรอดูว่าประชาชนสหรัฐจะได้ผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นหรือไม่แล้วสหรัฐจะมีการผ่อนปรนหรือมาตรการอื่นมาทดแทน ส.อ.ท.ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เบื้องต้นได้สอบถามไปยังสมาชิกถึงผลกระทบที่จะได้รับและมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือ ส.อ.ท.จะนำไปเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ขณะที่บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ ฉุดการผลิตอุตสาหกรรมไทยให้เสี่ยงหดตัวราว 1.0% ในปี 2568 ขณะที่ไทยหวังพึ่งแรงส่งจากการท่องเที่ยวได้ไม่มากเท่าปีก่อน โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการขึ้นภาษีและคำสั่งซื้อที่ลดลงของสหรัฐฯ เนื่องจากพึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนรถยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ถูกกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางเศรษฐกิจหลักในโลกที่ชะลอลง
สิ่งที่ตามมาคือ แรงงานในภาคการผลิตที่ทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงด้านรายได้ โดยโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์เริ่มมีสัญญาณการปิดตัวเพิ่มขึ้นและเป็นขนาดกลางถึงใหญ่ซึ่งสถานการณ์ คงจะท้าทายมากขึ้นอีกเมื่อสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในต้นเดือนเมษายนนี้
นอกจากนี้ ไทยคงคาดหวังแรงส่งจากการท่องเที่ยวได้ไม่มากเท่าปีก่อน หลังจำนวนนักท่องเที่ยว 2 ชาติหลักอย่างจีนและมาเลเซียลดต่ำลง อีกทั้งการแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้การฟื้นตัวของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดหรือมากกว่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี