นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 24 – 30 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 3,794,863 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนหารายได้พิเศษ เป็นการเข้าร่วม Group Line เพื่อลงขายสินค้า ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนผ่าน Line ที่แสดงหน้าเพจ จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าจะต้องโอนเงินเพื่อเป็นค่าสมัครใช้บริการก่อนจึงจะสามารถลงขายสินค้าได้ ในช่วงแรกสามารถขายสินค้าและได้รับเงินจริง ต่อมามีการให้เข้าร่วมกิจกรรมโดยให้โอนเงินลงทุนเพื่อซื้อสินค้าหลากหลายประเภท มิจฉาชีพอ้างว่าให้โอนเงินซื้อสินค้าราคาสูงเพื่อจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนมากและรวดเร็ว ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังต้องการถอนเงินออกแต่ไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 700,915 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook เป็นการสั่งซื้อกางเกงยีนส์จากต่างประเทศ เป็นสินค้าพรีออเดอร์และเก็บเงินปลายทาง มิจฉาชีพติดต่อกลับผ่านทาง Messenger Facebook แจ้งว่าสินค้ารอบที่สั่งดำเนินการส่งแล้วแต่ไม่มีคนรับพัสดุ สินค้าถูกตีกลับคืน และทางเพจจะให้เงินค่าชดเชยและค่าเสียเวลาให้กับผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายดำเนินการตามที่มิจฉาชีพแจ้ง ผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามขั้นตอนจนเสร็จ ไม่พบเงินค่าชดเชยสินค้าที่ทางร้านแจ้งว่าจะเข้าบัญชี แต่ได้รับข้อความแจ้งว่าเงินถูกโอนออกไปจนหมดบัญชี ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 364,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นพ่อแจ้งว่าเงินค่าสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างไม่เพียงพอ ขณะนั้นแจ้งว่าอยู่ที่ร้านวัสดุก่อสร้าง ผู้เสียหายหลงเชื่อเพราะบ้านกำลังซ่อมแซมจริง จึงทำการโอนเงินไป ภายหลังติดต่อหาแม่จึงทราบว่าพ่อไม่เคยเดินทางไปที่ร้านวัสดุก่อสร้าง ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 751,856 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี ทักมาอยากทำความรู้จักเนื่องจากผู้เสียหายหน้าตาดีจึงอยากพูดคุยและอยากศึกษาดูใจกัน หลังจากนั้นพูดคุยกันสัก 2 เดือนรู้สึกสนิทใจแม้จะยังไม่เคยเห็นหน้ากัน ฝ่ายชายขอให้โอนเงินเพื่อนำไปลงทุนเกี่ยวกับน้ำมันและเงินค่าจ้างพนักงาน ถ้าเก็บเงินได้เพียงพอแล้วจะทำการจดทะเบียนสมรสด้วยกัน โดยขอเงินยอดแรกเป็นค่าขนส่งน้ำมันและค่าจ้างพนักงานชุดแรก ผู้เสียหายหลงเชื่อทำการโอนเงินไป ฝ่ายชายแจ้งว่าโอนเงินน้อยไปไม่เพียงพอขอให้โอนเพิ่ม ผู้เสียหายเริ่มสงสัยจึงขอวิดิโอคอลเพื่อได้เห็นหน้ากัน ฝ่ายชายมีการบ่ายเบี่ยงไม่รับสาย ทราบภายหลังโดนบล็อกช่องทางการติดต่อ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,251,885บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาหารายได้พิเศษบนช่องทาง Instagram ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถาม ลักษณะงานเป็นการโพรโมทและกดไลก์สินค้าเพื่อแลกกับยอดเงินค่าคอมมิชชัน จากนั้นทางมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ทางผู้เสียหายกรอกข้อมูลทำการโอนเงินค่าสินค้า และค่าดำเนินการต่าง ๆ จากนั้นทางผู้เสียหายได้ทำกิจกรรมตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำได้รับค่าตอบแทนสูง ผู้เสียหายจึงโอนเงินเข้าไปสำรองสินค้าเพิ่มขึ้นและได้ผลกำไรมากขึ้น เมื่อต้องการถอนเงินกำไร มิจฉาชีพแจ้งว่ากรอกข้อมูลส่วนตัวผิด ต้องทำการโอนเงินไปแก้ไขระบบถึงจะสามารถถอนเงินได้ ทราบภายหลังไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 6,863,519 บาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 21 มีนาคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,590,0688 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,094 สาย 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 578,048 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,225 บัญชี 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 183,203 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.69 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 137,825 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.85 (3) หลอกลวงลงทุน 85,466 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.79 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 64,245 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.11 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 41,751 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.22 (และคดีอื่นๆ 65,558 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.34)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อหารายได้พิเศษ อ้างจ่ายค่าคอมฯ สูง ก่อนอ้างให้ลงทุนมากขึ้น รวม 2 เคสกว่า 5 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังตรวจพบเคสที่มิจฉาชีพอ้างเป็นญาติสนิท หลอกให้โอนเงินให้ รวมถึงเคสหลอกให้รัก ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ถือเป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี