ผลตรวจเหล็ก'ตึกสตง.ถล่ม'ออกแล้ว! ตกมาตรฐาน 13 ท่อน พบมาจากบ.เดียวกัน บี้ผลิตระหว่างถูกสั่งปิดหรือไม่
วันที่ 31 มีนาคม 2568 เวลา 19.00 น. ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการนำตัวอย่างเหล็กเส้น จำนวน 28 ท่อน ที่เก็บจากตึกสตง.ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.จากเหตุแผ่นดินไหวมาตรวจสอบคุณภาพ ที่สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ โดยใช้เวลาการตรวจสอบเหล็กทุกท่อนมากกว่า 4 ชั่วโมงว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณภาพเหล็กทุกท่อน โดยเป็นไปอย่างโปร่งใส มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ต่อเนื่อง
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวถึงพบการตรวจสอบว่า เหล็กที่นำมาตรวจสอบ 28 ท่อน 7 ไซส์ ได้มาตรฐาน 15 ท่อน 5 ไซส์ ไม่ได้มาตรฐาน 13 ท่อน 2 ไซส์ คือ ไซส์ 20 มิลลิเมตร และ32 มิลลิเมตร ซึ่งทั้ง 2 ไซส์ มาจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือนธ.ค. 67 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
“เหล็กที่เรานำมาตรวจสอบ เป็นเพียงการสุ่มตรวจเข้ามา หลังจากนี้ทางสมอ.จะกลับไปนำตัวอย่างเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อให้มีหลักฐานเพียงพอ ซึ่งเวลาเราตรวจสอบ เราไม่ได้เฉพาะเจาะจงบริษัทใด บริษัทหนึ่งเท่านั้น เป็นการสุ่มตรวจจากซากตึกที่ถล่ม ส่วนเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบครั้งนี้ เราจะไปดูว่า เป็นเหล็กที่ผลิตระหว่างที่เราสั่งปิดหรือไม่ อย่างไร เพราะเราสั่งปิดไปประมาณ 4 เดือน แต่ดูจากเหล็กน่าจะประมาณ 5 เดือน ก็ต้องตรวจสอบเชิงลึกกันอีกครั้ง หากพบว่า มีการลักลอบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานออกมาใช้ ก็จะโดนดำเนินคดีต่อไป จากปัจจุบันนนี้ ทางบริษัท อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว แม้ว่า เหล็กที่เราตรวจสอบ จะพบว่า ไม่ได้มาตรฐานบางส่วน แต่ยังไม่สวามารถสรุปได้ว่า เป็นสาเหตุหลักในการทำให้อาคารพังลงมา“น.ส.ฐิติภัสร์กล่าว
สำหรับเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 เส้น มีทั้งหมด 7 ประเภท ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น จาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) ซึ่ง ณ เวลานี้เรายังไม่สามารถปรักปรำทั้ง 3 บริษัทได้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยืนยันอีกครั้งว่า ผลของเหล็กนั้นเป็นบวกหรือลบ
ทั้งนี้ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าหน้าที่จะนำเหล็กทุกท่อน ที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ มาตัดเป็นท่อนขนาด 1 เซนติเมตร จากนั้นนำไปตีแบน ก่อนจะนำไปวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีในเหล็กส่วนที่สอง เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาว และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำมาคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่า เป็นไปตามมาตรฐานมอก.หรือไม่
สำหรับรายชื่อผู้ร่วมตรวจสอบครั้งนี้ ได้แก่ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการวิศวกรรมโยธา และประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดร.เอกรัตน์ไวยนิตย์ นักวิจัยอาวุโส ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ นายณัฐพล สุทธิธรรม อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็กวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยร่วมตรวจสอบ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี