กรมการจัดหางานเร่งหาข้อมูลแรงงานข้ามชาติตึกถล่ม อธิบดีเผยขึ้นทะเบียนถูกต้อง เครือข่ายฯแนะหามาตรการพิเศษรองรับ หวั่นตกงาน-ต่อใบอนุญาตช่วงชุลมุนไม่ทัน เสนอหาวิธีผ่อนปรน
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ที่กำลังก่อสร้างถล่มว่า ตัวเลขที่ได้รับแจ้งล่าสุด 79 คน แต่ยังไม่ชัดเจนและกำลังให้ทางทีมงานตรวจสอบกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง โดยแรงงานต่างด้าวทั้งเป็นเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง
นายสมชายกล่าวถึงเงินช่วยเหลือเยียวยาว่า ปกติแยกออกเป็น 2 ส่วน ถ้าแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมก็เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม ส่วนแรงงานที่ยังไม่เข้าระบบประกันสังคม ก็จะมีระบบประกันสุขภาพที่ประกันโดยภาคเอกชน ถ้าเสียชีวิตได้ประมาณ 1 แสนบาท แต่ถ้าต้องรักษาตัวก็มีวงเงินในการดูแลอยู่ประมาณ 1.5 แสนบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่าตอนนี้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งไม่มีงานทำภายหลังจากอาคารถล่ม อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงแรงงานได้ตั้งส่วนเฉพาะกิจบริเวณหน้างาน ถ้ามันมีประเด็นปัญหาเรื่องการที่จะไม่มีสถานที่ทำงานค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่ตอนนี้เราช่วยคนที่ได้รับผลกระทบ
“ ตอนนี้ยังไม่มีแรงงานต่างด้าวแจ้งเรื่องนี้เข้ามา มีแต่เรื่องของการติดตามหาญาติ พี่น้องที่ยังไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน เรากำลังเช็คกันอยู่ คนที่หายไปตอนนี้ประมาณ 30 กว่าคน” นายสมชาย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทเหมาช่วงจะมีปัญหาหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ไม่มีปัญหาเพราะเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่ตอนนี้ขอตรวจสอบก่อนว่าแรงงาน เป็นใคร อยู่ตรงไหน เพื่อความชัดเจนแน่นอน
ด้านสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้อำนวยการเครือข่ายสิทธิเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่าแรงงานต่างข้ามชาติที่เข้ามาทำงานมีหลายประเภท บางส่วน walk in เข้ามาคือบางส่วนเป็นคนงานถือเอกสารก่อสร้างอยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่ที่พบเป็นคนงาน MOU ที่มาแบบกลุ่มๆ แต่เป็น MOU ที่นายจ้างไม่ได้เอาเข้าสู่ระบบประกันสังคม
“รัฐบาลพยายามผลักไปที่ประกันสังคมอย่างเดียว ไม่ได้พูดถึงว่ารัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร มีมาตรการอะไรในการช่วยเหลือที่ไม่ใช่ประกันสังคม อันนี้คือข้อกังวลซึ่งคนงานฝากมาก็คือ คนงาน MOU เมื่อตึกถล่มแล้ว ไม่มีที่ทำงาน ตอนนี้แม้เขายังเป็นลูกจ้างของบริษัทแต่อนาคตต้องเปลี่ยนนายจ้างใหม่ ระยะเวลาในการหานายจ้างใหม่ในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉินเแบบนี้ น่าจะมีการยืดหยุ่นระยะเวลาในการหานายจ้างคนใหม่ หรือหากนายจ้างไม่ได้ทำงานแล้ว นายจ้างจะรับผิดชอบอย่างไร” ผู้อำนวยการเครือข่ายฯกล่าว
สุธาสินี กล่าวถึงการลงพื้นที่อาคารถล่มว่า ศูนย์ที่ตั้งขึ้นของกระทรวงแรงงานทำหน้าที่เพียงเก็บข้อมูล แรงงาน ซึ่งเป็นเต็นท์เล็กๆท่ามกลางอากาศร้อนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่เท่านั้น ทำให้ทำงานไม่ครอบคลุมและไม่เป็น One Stop Service
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีอาคารถล่มมีข้อกังวลใจหลักคือต้องการความชัดเจนจากกระทรวงแรงงาน 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือเรื่องเงินชดเชย และเงินเยียวยา แม้จะมีการชดเชยตามสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและเงินทดแทน ซึ่งตรงจุดนี้แรงงานไทยไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบประกันสังคมและเงินทดแทน สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือการติดตามและเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยตามสิทธิ
อดิศรกล่าวว่า ส่วนแรงงานข้ามชาตินั้นส่วนหนึ่งที่ทำงานกับนายจ้างมานาน หรือเป็นแรงงานนำเข้าตาม MOU ในบริษัทรายใหญ่และกลางน่าจะได้รับเงินส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมาเรามักจะพบปัญหากรณีทายาทของผู้เสียชีวิตที่ต้องมารับเงินชดเชย อาจจะมีความยากลำบากในการรับสิทธิประโยชน์ ทั้งปัญหาในเรื่องเอกสาร การพิสูจน์ความเป็นทายาท เช่น กรณีของสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสทำให้ไม่มีเอกสารในการขอรับ และต้องใช้ระยะเวลา
“ตรงนี้อยากให้ทางกระทรวงแรงงาน กำหนดแนวทางและมาตรการที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้ชัด ขณะเดียวกันตัวเลขผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมปัจจุบันยังมีตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นค่อนข้างมาก ในขณะที่แรงงานในกิจการก่อสร้างมีแรงงานข้ามชาติทำงานมากถึง 20% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ดังนั้นมีความเสี่ยงที่แรงงานในกิจการก่อสร้างโดยเฉพาะผู้รับเหมารายย่อยอาจจะไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โอกาสในการเข้าถึงการได้รับเงินทดแทนในเรื่องนี้ อาจจะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะกรณีเงินทดแทน เราพบว่าเจ้าหน้าที่จะผลักให้เป็นภาระของนายจ้างที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานเอง ซึ่งมีความเสี่ยงที่แรงงานจะไม่ได้รับ อยากฝากให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการดำเนินการดูแลตรงนี้เพิ่มเติม”อดิศร กล่าว
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า ระยะต่อไปคือเรื่องรายได้ และการขาดรายได้ โดยเฉพาะในผู้รับเหมารายย่อย หากประสบปัญหาการไม่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้ อาจต้องมีการประสานงานกับนายจ้างและแรงงานเพื่อให้เกิดการเยียวยา ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องหางานใหม่ ควรจะมีมาตรการในการช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันยังมีเงื่อนไขที่กระทรวงแรงงานอาจจะไม่สามารถช่วยหางานให้แรงงานข้ามชาติได้ ดังนั้นในกรณีวิกฤตรูปแบบนี้กระทรวงแรงงานอาจจะต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อรองรับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
อดิศรกล่าวว่า อีกประเด็นที่พบคือเรื่องเอกสารใบอนุญาตทำงานและเอกสารประจำตัว เบื้องต้นทางกระทรวงแรงงานได้ระบุว่าจะอำนวยความสะดวกในการออกเอกสารหลักฐานให้ใหม่ แต่ข้อกังวลใจ คือ ช่วงที่เกิดเหตุการณ์นี้เป็นช่วงที่แรงงานข้ามชาติอยู่ระหว่างการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และมีบางส่วนเป็นกลุ่มจดทะเบียนใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนอยู่ระหว่างรอการดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานสำหรับกลุ่มที่กำลังจะขอขึ้นทะเบียนใหม่ ซึ่งจะต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้เสร็จภายใน 30 มีนาคม 2568 ดังนั้นอาจจะมีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งที่กำลังดำเนินการและไม่สามารถทำได้ทัน อยากให้กระทรวงแรงงานพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ โดยมีมาตรการขยายเวลา หรือจัดทำเอกสารเฉพาะหน้าให้แก่แรงงานเหล่านี้ไปก่อน เพื่อจะดำเนินการอื่น ๆ ต่อได้ และไม่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ดังนั้นฐานข้อมูลแรงงานที่ประสบปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี