พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่ กสทช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียง เพื่อการทดลองและทดสอบเป็นการชั่วคราว ไปแล้วนั้น ได้มีผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจยื่นขอรับการอนุญาต และหลักจากที่สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นไปตามประกาศฯ แล้ว จึงได้เสนอที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 26 มีนาคม 2568 พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ผู้ประกอบการ 2 ราย ทำการทดลองทดสอบเป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาอนุญาต 6 เดือน ได้แก่
1. กลุ่มสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ขอในนามบริษัท ไอเอฟแซด อินโนเวทีฟ จำกัด ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุ บล็อกความถี่ 9A (ความถี่กลาง 202.928 MHz) ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยมีสถานีวิทยุที่เข้าร่วมการทดลองทดสอบ เช่น สถานีเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ สถานีวิทยุเสียงสันติ เป็นต้น
2. กลุ่มสถานีขอนแก่น ขอในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ เค พี เอ็นจิเนียริ่งเรดิโอ ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุ บล็อกความถี่ 6C (ความถี่กลาง 185.360 MHz) ในพื้นที่ขอนแก่นและมหาสารคาม โดยมีสถานีวิทยุที่เข้าร่วมการทดลองทดสอบ เช่น สถานีวิทยุขอนแก่นมหานคร สถานีวิทยุสายฟ้าเรดิโอ สถานีวิทยุท้องถิ่นไทย เป็นต้น
สำหรับเงื่อนไขการอนุญาตนั้น ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องจัดสร้างโครงข่ายวิทยุระบบดิจิทัล ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องส่งที่มีมาตรฐานตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล รวมทั้งใช้คลื่นความถี่ตามที่ได้รับอนุญาต โดยมีการติดตั้งสายอากาศตามที่กำหนด จำนวน 4 เสาส่ง เพื่อให้รัศมีการเผยแพร่เสียงครอบคลุมตามพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งสามารถเผยแพร่กระจายเสียงได้ถึง 16 – 18 รายการ (สถานีวิทยุ) ขึ้นกับคุณภาพของเสียงหรือบิทเรท (Bit Rate) ที่กำหนด สำหรับสถานีวิทยุที่เข้าร่วมการทดลองทดสอบ ต้องเป็นสถานีวิทยุ FM ที่ได้รับการอนุญาตจาก กสทช. จึงจะสามารถออกอากาศแบบคู่ขนานกับระบบ DAB+ ได้ โดยไม่มีการดัดแปลงเนื้อหาใด ๆ และห้ามมิให้มีการแสวงหารายได้เพิ่มเติมจากการทดลองทดสอบนี้ โดยที่ผู้รับอนุญาตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์การทดลองทดสอบเองทั้งหมด รวมทั้งการจัดหาเครื่องรับวิทยุในระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถรับฟังการออกอากาศได้
“การอนุญาตในการทดลองทดสอบวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล DAB+ ในครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนากิจการกระจายเสียงของประเทศไทย โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีความพร้อม ได้รวมตัวทำการทดลองทดสอบด้วยตนเอง ทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าว สามารถเรียนรู้ทั้งทางเทคโนโลยีของระบบ และเรียนรู้ทางการบริหารจัดการ รวมทั้งทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นไปตามกลไกตลาม ซึ่งผมในฐานะ กสทช. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้การแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม แม้ว่าการอนุญาตในครั้งนี้ จะเริ่มในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค แต่สามารถขยายไปสู่การกระจายเสียงในระดับชาติได้ หากมีการจัดตั้งโครงข่ายเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกระจายเสียงในระดับชาติอย่างแท้จริงที่สามารถออกอากาศรายการจากสถานีเดียวที่ทำให้ประชาชนได้รับฟังภายใต้สถานีนั้นพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสื่อสารสาธารณะของประเทศ โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่น เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมา หากระบบสื่อสารโทรคมนาคมอื่น ใช้ไม่ได้ ต่อไป” พลอากาศโท ธนพันธุ์กล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี