เกือบ 2 ปี แล้ว ที่ประเทศไทย ใช้เวลาในการทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “ศูนย์บัญชาการระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศผ่าน ระบบ Cell Broadcast”
โดยผู้ที่รับผิดชอบมี 2 ส่วน คือ 1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) เป็นผู้ดำเนินการแลดูแลระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) เป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น การบริหารจัดการระบบ (Administrator),การจัดการข้อความที่สื่อสาร (Message Creator),และการอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver) โดย ปภ.อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ ปภ.เป็นหน่วยงานหลักภายใต้งบจำนวน 400 ล้านบาท
2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีหน้าที่ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความจัดส่งไปยังสถานีฐานตามพื้นที่ ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง ประกอบด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration),การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่ายสื่อสาร (Net Management) ขณะที่กระทรวงดีอีเอง ได้งบประมาณ 98 ล้านบาท จากปภ. และให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ทำระบบคลาวด์ในการเชื่อมต่อข้อมูลสั่งการไปยังค่ายมือถือ
ขณะเดียวกันหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจกการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่เพียงสนับสนุนงบประมาณถ้าจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา บอร์ด กสทช.ได้อนุมัติกรอบวงเงินที่จะนำมาลดหย่อนรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO จากการจัดทำระบบแจ้งเตือน CBC,Core Network,Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ ระยะเวลา 3 ปี มูลค่าราว 1,030 ล้านบาทให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์ได้ทดสอบระบบเตรียมความพร้อมแล้วและพร้อมเชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาลที่จะเป็นผู้แจ้งเดือนภัยผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รอเพียงทางปภ. ดำเนินการส่วนของตัวเองให้แล้วเสร็จ ซึ่งโอเปอเรเตอร์ “คาดการณ์”ว่า ไตรมาส 2/2568 ระบบ Cell Broadcast จะพร้อมใช้งานได้ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 5 มี.ค.2567 AIS ได้แถลงความร่วมมือระหว่าง กสทช.ในการทดสอบระบบ Cell Broadcast และ วันที่ 3 ก.ค.2567 TRUE เปิดทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเสมือนจริงเช่นเดียวกัน
“ระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องเสร็จภายใน 1 ปี” คำกล่าวเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2566 ของ นายประเสริฐ จันทราวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี!! การทำระบบ Cell Broadcast ใช้เวลาในการทำระบบราว 6 - 12 เดือน ขณะที่ค่ายมือถือร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า การลงทุนทำระบบดังกล่าวต้องใช้งบประมาณสูง
นายประเสริฐ จันทราวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เดิมการเริ่มต้นของการทำระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ มาจากตอนที่เกิดเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า จึงทำให้จะต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินฯ เกิดขึ้น และดีอีเคยอาสาเป็นแม่งาน แต่ปัจจุบันอำนาจการสั่งการหลักจะเป็น ปภ.ดีอีมีหน้าที่ทำระบบคลาวด์ CBC
“ตอนนี้เรารอเพียงแค่ปภ.ซึ่งระบบยังไม่สมบูรณ์ และเราก็ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากมีกฏหมายบังคับ ในส่วนของดีอี คือทำระบบคลาวด์ มีงบประมาณอยู่ราว 33 ล้านบาท ผมไม่แน่ใจ การดำเนินการเรื่องอยู่ที่อยู่สำนักปลัดเป็นผู้ดำเนินการ” รมว.ดีอี กล่าว
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.พร้อมทำตามนโนบายของรัฐบาลทุกภาคส่วน ซึ่งเหตุกาณณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 สำนักงาน กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยหลังเกิดเหุตการณ์ การส่งข้อความข้อ (SMS) ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากส่งได้ครั้งละ 2 แสนเลขหมาย จึงทำให้ไม่ทั่วถึง จึงได้กำชับให้โอเปอเรเตอร์เป็นรูปแบบการแจ้งเตือนผ่านระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเสมือนจริง
“การแจ้งเตือนภัยนั้น มีทั้งหน่วยงานกรมอุตุนิยมวิทยา ในการแจ้งเตือนเรื่องฝน พายุ ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ อาชญากรรมขั้นร้ายแรง เป็นต้น ดังนั้น ควรมีหน่วยงานหลักแห่งชาติ ในการดูแลเรื่องนี้โดยตรง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถูกตั้งขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยขึ้นตรงกับสำนักนายก โดย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช บุคคลในตำนานการเตือนภัย ช่วงนั้นที่ตั้งศูนย์เตือนภัยเป็นระบบใหญ่ มีระบบที่ดีมาก ซึ่งเป็นศูนย์เตือนภัยระดับภูมิภาค มีเครื่องมือ มีโครงการ และแผนงานใหญ่โต กระทั่งต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายของรัฐที่ก่อตั้งกับนโยบายของรัฐบาลถัดมาไม่ตรงกัน จึงมีการยุบศูนย์เตือนภัยให้เล็กลง และย้ายไปอยู่ในสังกัดกระทรวงอื่น ห่างไกลจากนายกฯ ดังนั้น การดูแล การบังคับบัญชา และการสั่งการจึงช้า เนื่องจากกว่าจะผ่านขั้นตอนมาถึงตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งเมื่อเกิดภัยกว่าเรื่องจะถึงตัวนายกฯก็ช้า และไม่ทันการแล้ว
โดยดร.สมิทร ได้กล่าวว่า ประเทศอื่นที่เจริญแล้ว ให้ศูนย์เตือนภัยและระบบเตือนภัยอยู่ภายใต้อำนาจของนายกฯ ซึ่งสามารถสั่งการช่วยเหลือและประกาศเตือนภัยได้ทันที ซึ่งระบบเดิมที่ทำไว้ มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากผู้บริหารศูนย์ฯ นั้นเป็นนักวิชาการจากทุกหน่วยงานมารวมกันไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมอยู่ในศูนย์เตือนภัยฯ ฉะนั้นสั่งการคำเดียวทุกหน่วยงานพร้อมที่จะทำงาน
“แต่เมื่อศูนย์เตือนภัยฯ ถูกยุบให้เล็กลง บทบาทน้อยลง รวมถึงงบประมาณและกำลังพลด้วยนั้น ดังนั้น การจะทำอะไรที่ผ่านมาจึงต้องยืมมือคนอื่นมาช่วย ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยฯ ต้องหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความรอบรู้เกี่ยวกับงานวิชาการหรือภัยธรรมชาติทุกสาขา ซึ่งในสมัยก่อนการสรรหา ต้องมีการทดสอบความรู้รวมถึงภาษาต่างประเทศด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีการสอบ ใครที่อยู่ใกล้นักการเมืองอยากมาเป็นก็เป็นได้ ฉะนั้นเวลาที่จะออกคำเตือนหรือสั่งการก็ไม่กล้า เพราะต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้วิเคราะห์เสียก่อน การทำงานจึงเป็นไปอย่างล่าช้า ศูนย์เตือนภัยฯ เป็นเพียงระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องใช้พระราชกิจจานุเบกษาในการจัดตั้ง ฉะนั้นเพียงผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็สามารถที่จะย้ายได้ทันที”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่เคยถูกยุบให้มาอยู่ภายใต้กระทรวงดีอีเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเนื่องจากการทำงานควบคู่กับกรมอุตินิยมวิทยา ในสมัย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในปี 2554 และมีการใช้งานเลขหมายพิเศษในการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ ผ่าน SMS ผ่าน 1784 ซึ่งมีสมาชิกอยู่ราว 2,000 สมาชิก โดยปัจจุบันกลุ่มสมาชิกเหล่านี้จะได้รับ SMS แจ้งเตือนก่อน
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี