นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้จีดีพีปี 2568 ต่ำกว่าที่เคยคาดจากกรอบประมาณการเดิมอยู่ในช่วง 2.4-2.9% ซึ่งได้คำนึงถึงผลกระทบบางส่วนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯไว้แล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนถึงขนาดและขอบเขตของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนวันนี้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกราว 0.2-0.6% ทั้งนี้ กกร. ยังคงประมาณการส่งออกอยู่ที่ 1.5 - 2.5% เงินเฟ้อ 0.8 - 1.2%
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังอาจถูกกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวได้ช้าและเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฉะนั้นไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเร่งดำเนินการผ่าน 1.นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ2.นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่างๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ
นายทวี กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อนโยบายการปรับโครงการสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ที่มีแนวคิดจะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติไปให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนพลังงานไปให้อีกภาคส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ขอให้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนกับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง
“ที่ประชุมเห็นว่าขณะนี้เป็น Moment of opportunity ในการสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน จากทั้งเรื่องของสงความการค้า และเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ ทั้งในส่วนกระบวนงานของส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนที่ควรมีการปฏิรูป โดยให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ประกอบการพิจารณาแผนการรับมือและการจัดการกับปัญหา”นายทวีกล่าว
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ประเมิน (ณ 1 เมษายน 2025) แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2025 มีผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยจำกัดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบจะกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเร็วในระยะสั้น จากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อสถานการณ์ความปลอดภัยในประเทศไทย หลังข่าวแผ่นดินไหวได้แพร่กระจายออกไปทั่วโลก โดยประเมินในกรณีฐานว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับลดลง 4 แสนคนภายใต้สมมติฐานผลกระทบจะรุนแรงในเดือนเมษายน และจะใช้เวลาฟื้นตัวให้กลับมาเติบโตได้ตามปกติราว 3 เดือน
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม จะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่กำลังจะโอนหรือซื้อ โดยอาจชะลอการโอนหรือซื้อออกไป ซึ่งจะทำให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมหดตัว รวมถึงการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปีนี้จะหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่หยุดชะงัก ประกอบกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างจะได้รับอานิสงส์จากการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ ความสามารถในการรองรับภัยพิบัติของสิ่งปลูกสร้างจะเป็นปัจจัยที่ผู้ว่าจ้างให้ความสำคัญ รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีแนวโน้มเผชิญความเข้มงวดจากผู้ว่าจ้างมากขึ้น ตั้งแต่การเข้าประมูล การก่อสร้าง จนถึงขั้นตอนตรวจรับงาน ส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคก่อสร้างตามมา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี