ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดแถลงแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ร่วมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และหาแนวทางเจรจากับสหรัฐฯเพื่อลดผลกระทบ พร้อมทั้งวางแผนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการทางการเงิน อาทิ การให้เงินชดเชยดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียน
“หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากไทย 10-11% จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้กว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าหลักที่จะได้รับผลกระทบคือสินค้าเกษตร ที่ผ่านมาไทยประสานยื่นข้อเสนอเจรจากับสหรัฐตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ โดยทั้งนี้มาตรการที่คณะทำงานเตรียมไว้สำหรับเจรจากับสหรัฐฯ ประกอบด้วย 1.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เช่น พลังงาน เครื่องบิน (ซื้อ/เช่า จากสหรัฐของการบินไทย) 2.ลดภาษี-ลดอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐบางรายการ 3.เปลี่ยนนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐแทนประเทศอื่น 4.เพิ่มการลงทุนในสหรัฐ โดยเฉพาะด้านอาหาร ในรัฐที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์” นายวุฒิไกรกล่าว
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง หอการค้าฯมีความกังวลมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กับทั่วโลก อาจทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมถึงไทย จะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยและผู้ประกอบการไทยในทุกระดับต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐสูงไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยไทยเองควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล
นายพจน์กล่าวอีกว่า หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ที่จะไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรภายในประเทศของไทยได้แก่ 1.พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ซึ่งที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวของไทย จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์(โค สุกร ไก่) ไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีและถูกลงซึ่งจะช่วยให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปต่างประเทศดีขึ้นรวมทั้งจะช่วยผู้บริโภคในประเทศในประเภทเนื้อสัตว์ด้วย2.สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ 3.สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 4.เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมเพื่อส่งออก
“นโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน ของโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ปัจจุบันประเทศจีน เกาหลีและญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกันแล้ว อีกทั้งสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับแคนาดาในการเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทางหอการค้าฯ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลของไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอฟทีเอไทย-ยุโรป เอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซฟ) ให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้ให้ได้ ซึ่งจะลดผลกระทบจากนโยบาย Trump Tariff” นายพจน์กล่าว
ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) ว่า มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จะกระทบส่งออกไทย ในกลุ่มสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง และปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงขึ้น รวมถึงสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี