หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 การตรวจเช็คความปลอดภัยด้านต่างๆ ของอาคารล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านไฟฟ้า เนื่องจากสายไฟทั้งบนดินและใต้ดินที่ได้รับผลกระทบ อาจส่งผลให้เกิดไฟฟ้าขัดข้อง จนถึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) หนึ่งในผู้นำตลาดสายไฟฟ้าของ ไทยที่คู่คนไทยมากว่า 60 ปี ได้ประเมินสภาพปัญหา พร้อมแนะนำแนวทางตรวจเช็คสายไฟฟ้าสำหรับทั้งบ้านและอาคาร รวมถึงแนวทางแก้ไข และป้องกัน เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย
นายพงศภัค นครศรี ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) เปิดเผยว่า การตรวจสอบความเสียหายของสายไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าหลังแผ่นดินไหว สำหรับกลุ่มเจ้าของบ้าน เจ้าของห้องชุดในคอนโดมิเนียม ตลอดจนเจ้าของอาคาร มี 5 จุดหลักที่ต้องตรวจเช็ค
ประกอบด้วย กลุ่มงานระบบไฟฟ้าของอาคาร 2 จุด คือ 1.ตู้ควบคุมไฟฟ้า ตรวจสอบว่าประตูของตู้ Main Distributor Board หรือ MDB และตู้ย่อยอื่นๆ ยังปิดสนิท ไม่มีรอยบิดเบี้ยว หรือความเสียหายเชิงโครงสร้าง และ 2.ระบบสำรองไฟฟ้า ตรวจสอบเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) แบตเตอรี่สำรอง หรือเครื่องปั่นไฟ ว่ายังสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
กลุ่มงานระบบและสายไฟในห้องพัก 3 จุด ได้แก่ 1.เบรกเกอร์หลักและระบบป้องกันไฟฟ้า เบรกเกอร์หลักต้องยังทำงาน ไม่หลุดลงเอง รวมถึงไม่ตัดวงจรอัตโนมัติ 2.จุดเชื่อมต่อและการยึดติดของสายไฟฟ้า สายไฟฟ้าต้องไม่มีร่องรอยการขาด ชำรุด หรือหลุดจากจุดเชื่อมต่อ รางสายไฟและท่อร้อยสายยังคงยึดแน่นกับโครงสร้าง และ 3.สภาพของสายไฟฟ้า ไม่มีรอยฉีกขาด ฉนวนหรือเปลือกแตก ละลาย ซึ่งอาจเป็นผลจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือความร้อนสะสม โดยนอกจากจะสังเกตทั้งหมดด้วยวิธีการมองแล้ว อาจสังเกตเพิ่มเติมด้วยการฟังเสียงผิดปกติของอุปกรณ์ ตลอดจนการดมกลิ่นไหม้ เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่มองไม่เห็นด้วย
“กรณีเป็นเจ้าของห้องพักคอนโดมิเนียม หรือผู้เช่าห้องพักในอาคารสูง บางจุด เช่น ตู้ MDB อาจไม่สามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ รวมถึงอาจมีอีกหลายจุดที่ต้องรอการยืนยันความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าส่วนกลางจากบริษัทบริหารนิติบุคคลอาคารก่อน เช่น ความปลอดภัยของระบบลิฟท์ ความปลอดภัยของสายไฟในพื้นที่ส่วนกลาง การไม่มีเสาไฟล้มเอียงโดยรอบอาคาร ข้อสำคัญคือ หากพบความเสียหายในจุดต่างๆ ไม่ว่าในห้องพักหรือพื้นที่ส่วนกลาง ห้ามซ่อมแซมด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องแจ้งช่างไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญให้เข้าดำเนินการแก้ไขเท่านั้น”นายพงศภัค กล่าว
ทั้งนี้แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้สายไฟเสียหายจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและอัคคีภัยตามมา หากไม่ใช้สายไฟที่มีคุณภาพ หรือการติดตั้งที่ถูกวิธี การติดตั้งสายไฟลงดินเป็นอีกหนึ่งในวิธีที่สำคัญในการลดความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ ตัวอย่างสายไฟที่สามารถฝังลงดินได้โดยตรง เช่น สายไฟ 450/750V NYY และสายไฟ 0.6/1kV CV เป็นสายไฟที่มีตัวนำทองแดงและฉนวน XLPE (Cross-linked polyethylene) และ เปลือก PVC (Polyvinyl chloride) อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สายไฟที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทนทานต่อแรงดึงและแรงกระแทกในอาคารต่างๆ ก็มีความสำคัญ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อกำหนดบังคับสำหรับทุกอาคาร อาคารใหม่ในอนาคตจึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ รวมถึงการใช้สายไฟที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับอาคารมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่กลุ่มอาคารดั้งเดิม อาจไม่สามารถออกแบบระบบไฟฟ้าได้ใหม่ทั้งหมด แต่สามารถแบ่งการปรับปรุงเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับที่ทำได้ง่ายและควรทำทันที เพิ่มจุดยึด (Seismic Bracing) ให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าหลัก เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า ตู้ MDB ตู้ไฟฟ้าย่อย และแผงควบคุมไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการล้ม หรือหลุดจากตำแหน่ง เปลี่ยนจุดต่อสายไฟและขั้วต่อไฟฟ้า ให้เป็นแบบยืดหยุ่น (Flexible Connector) ป้องกันการแตกหักจากแรงสั่นสะเทือน เดินสายไฟในท่อร้อยสายที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Conduit) โดยเฉพาะในจุดที่เสี่ยงต่อแรงดึง
2.ระดับที่ต้องมีการแก้ไขโครงสร้างบางส่วน เปลี่ยนสายไฟจากแบบปกติเป็นแบบมีความยืดหยุ่นสูง ติดตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติ (Seismic Shutoff Switch) เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรหากเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง เสริมโครงสร้างยึดรางสายไฟ (Cable Tray & Trunking) ให้แข็งแรงขึ้น 3.ระดับที่อาจต้องพิจารณาควบคู่กับการปรับปรุง (รีโนเวท) อาคาร เช่น สายไฟฝังในผนังเก่าที่แตกร้าวหรือเดินสายไฟโดยใช้ตัวนำเส้นเดี่ยว (Solid conductor) ที่มีความแข็ง ไม่ยืดหยุ่น อาจต้องพิจารณารีโนเวทโครงสร้างระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด
“เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกสายไฟ ต้องเลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากสายไฟ คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินโดยตรง จำเป็นต้องเลือกจากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ ม.อ.ก.เท่านั้น”นายพงศภัค กล่าว
สำหรับการเลือกสายไฟคุณภาพ ได้แก่ 1. การนำไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวัสดุตัวนำคุณภาพสูง ใช้ทองแดงบริสุทธิ์ 99.99% มีความมันวาวชัดเจน 2. ความทนทานและอายุการใช้งานยาวนาน โดยตัวนำและฉนวนอยู่กึ่งกลาง ไม่เบี้ยวหรือมีจุดที่ฉนวนบาง รวมทั้งสายไฟต้องไม่ชำรุดปริแตก บรรจุภัณฑ์ไม่ฉีกขาด และ 3. มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน มอก., ISO และมาตรฐานสากลอื่นๆ เป็นต้น
-033
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี