สอท.คาดไทยรับผลกระทบหนัก
เสียหาย8-9แสนล.
ผลพวงสหรัฐฯปรับขึ้นภาษี37%
อุตสาหกรรมหลายกลุ่มทรุด
เรียกถกหาแนวทางสู้วิกฤต
ส.อ.ท.เรียกประชุมกลุ่มอุตสาหกรรม รับมือสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าไทย 37% คาดมูลค่าความเสียหายพุ่งสูงถึง 8-9 แสนล้านบาท ระบุ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยหลายด้าน ทั้ง อาหาร พลาสติก เคมี สิ่งทอ เหล็ก อะลูมิเนียม ฯลฯ “เกรียงไกร” สั่งการให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ไปศึกษาข้อมูลภายในเพิ่มเติม และหาจุดยืนร่วมกัน ก่อนนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอแนวทางให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดประชุมเร่งด่วนร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางรับมือหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 37% ณ ห้องประชุม ชั้น 10 ส.อ.ท. โดยนายเกรียงไกร เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อระดมสมองหามาตรการต่างๆ หลังจากไทยถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บศุลกากรตอบโต้ สูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท
ในที่ประชุม ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้
อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers -NTB) 1. อัตราภาษีสูงและข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าเกษตร อัตราภาษีนำเข้าสูงในสินค้าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นมและอาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน: เผชิญภาษีนำเข้าสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาษีนำเข้าไวน์สูงถึง 400% 2. มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS Measures) จำกัดการนำเข้าเนื้อวัวที่มีอายุมากกว่า 30 เดือน (BSE) ห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากบางรัฐของสหรัฐฯ (HPAI) 3. ขั้นตอนศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า กระบวนการศุลกากรซับซ้อน ประเมินมูลค่าไม่แน่นอน มีความเสี่ยงในการทุจริต
อุปสรรคด้านการลงทุน 1. ข้อจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในภาคบริการการเกษตร และโทรคมนาคม 2. ข้อจำกัดด้านการเปิดเสรีการลงทุน แม้ BOI ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ยังมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการขออนุญาต 3. การค้าดิจิทัลและข้อกําหนดด้านข้อมูล (Digital Trade & Data Localization) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ข้อมูลบางประเภทต้องถูกจัดเก็บในไทย ข้อจำกัดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน สร้างความไม่แน่นอนต่อบริษัท Fintech และ Cloud
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP Protection) 1. ประเทศไทยอยู่ใน “บัญชีเฝ้าระวังพิเศษ” (Special 301 Watch List) 2. ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เว็บไซต์ผิด กฎหมายส่งผลเสียต่อผู้ผลิตเนื้อหาสหรัฐฯ 3. สินค้าลอกเลียนแบบ เสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 4. การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ
อุปสรรคด้านการค้าเกษตร 1. ข้อจำกัดเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชและพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ระบบใบอนุญาตนำเข้าและโควต้ากระบวนการยุ่งยาก โดยเฉพาะเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากนม
สำหรับ 20 อันดับมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากไทย ปี 2567 ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ วงจรอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยเงิน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวมถึงคอมพิวเตอร์ที่พกพาได้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่พกพาได้ และอุปกรณ์หน่วยเก็บความจำชนิดโซลิดสเตท
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลัก มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง
อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ก็ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการคำสั่งซื้อที่ลดลงของคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ส.อ.ท. ยังได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการรับมือและหารือกับสหรัฐฯ อาทิ 1. เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยจะเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากยิ่งขึ้น 2. แก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า เป็นต้น 3. ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น 4. ทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง
ทั้งนี้ นายเกรียงไกร ได้มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ไปศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อ ส.อ.ท. จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอแนวทางให้แก่รัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ดี ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมเจรจา เพื่อเตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐฯ เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี