nn ว่ากันตามจริงเรื่องของ“เหล็กจีน”ที่เข้ามาทำร้ายทำลายอุตสาหกรรมเหล็กของไทยนั้นเกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว แรกๆ ก็มาในรูปแบบของการนำเข้ามาในประเทศแล้วขายราคาต่ำกว่าท้องตลาดของไทย หรือที่เรียกกันว่า“ทุ่มตลาด”นั่นแหละ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่สามารถช่วยอุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้เลย เพราะมีอุปสรรคสำคัญ คือกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย หลังจากนั้นต่อมาอีกประมาณ 4-5 ปี นอกจากนำเข้าเหล็กการทุ่มตลาดแล้วก็ยกโรงงานเหล็กมาตั้งในประเทศไทยเสียเลย และสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเหล็กของไทยอย่างมาก แต่ตอนนั้น (ช่วงปี 2560-2567) สังคมไทยก็ยังได้ให้ความสนใจกับประเด็น“เหล็กจีน”สักเท่าไหร่เลย จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุ อาคารสำนักงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้เกิดถล่มลงมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 หลังจากที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในพม่านั่นแหละ...สังคมเลยได้รับรู้ปัญหาของ“เหล็กจีน”...ที่เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเหล็กไทยและสังคมไทย รวมทั้งชีวิตของพี่น้องคนไทย
ว่าด้วยเรื่องโรงงานเหล็กของจีนที่เข้ามาตั้งในประเทศไทย...ไม่ใช่มีแค่...บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.)…ผู้ผลิตเหล็กข้ออ้อย (ที่ใช้ในงานโครงสร้างโครงการก่อสร้าง) ที่มีเหล็กอยู่ในตึก สตง.ที่ถล่มลงมาเท่านั้น...ทุกวันนี้มีโรงงานเหล็กจากจีนย้ายเข้ามาตั้งในประเทศไทยรวมนับ 10 ราย (เฉพาะที่ใช้ชื่อจีนนะ)...แล้วยังมีอีกเท่าไหร่ไม่รู้ที่ทุนจีนเข้ามาซื้อโรงเหล็กไทยแต่ไม่เปลี่ยนชื่อยังคงใช้ชื่อไทยแบบเดิมอยู่
ทำไมโรงงานเหล็กจากจีนจึงย้ายเข้ามาในไทย...อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ...โรงงานเหล็กจากจีนพวกนี้เกือบทั้งหมดเป็นโรงงานเหล็กที่ผลิตเหล็กทรงยาว ที่ใช้เตาหลอมแบบ Induction Furnace process (IF)...ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเก่า(มากๆ)...ที่รัฐบาลจีนเขา“สั่งปิด”...เนื่องจากสร้างมลพิษทางอากาศสูงมาก อีกทั้งเหล็กที่ได้จากเตาประเภทนี้..จะควบคุมคุณภาพและค่าเคมีได้ยาก...ทำการกำจัดสารเจือปนและสิ่งแปลกปลอมออกจากเหล็กได้ยาก...ต้องพึ่งการคัดเลือกเศษเหล็กที่จะนำมาผลิต ซึ่งควบคุมและตรวจสอบได้ยาก จึงมีโอกาสที่เหล็กจะถูกเจือปนได้มากและมีโอกาสที่เหล็กจะมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอทั้งเส้น…แต่เตาแบบนี้มีต้นทุนที่ถูกกว่าผู้ผลิตเหล็กของไทยที่ใช้เตาหลอมแบบ Electrical Arc Furnace process (EF) หรือ“เตาอาร์คไฟฟ้า”...โดยในเตาจะมีแท่งอิเล็กโทรดจ่อกับเศษเหล็กให้ไฟฟ้าวิ่งผ่านเหล็กจนเกิดความร้อน จนหลอมละลาย เปรียบเสมือนการหลอมละลายด้วยฟ้าผ่า…หลังจากที่เหล็กหลอมละลายแล้ว จะกำจัดสิ่งสกปรกหรือค่าเคมีที่มีผลเสียต่อความแข็งแรงของเหล็กด้วยการทำให้สิ่งสกปรกและธาตุประกอบต่างๆกลายเป็นตะกรัน (Slag) และลอยขึ้นมาบนผิวหน้าน้ำเหล็ก ส่งผลให้น้ำเหล็กที่ได้สะอาดเหมือนใหม่ ก่อนจะนำไปเติมธาตุที่จำเป็นเพื่อให้เหล็กมีความเหนียว แข็งแรง เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน...แต่เตาแบบ EF ที่ผู้ผลิตเหล็กของไทยนั้นมีต้นทุนสูงกว่าเตาแบบ IF ที่โรงเหล็กจีนใช้
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผลการตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสถาบันเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ที่พบว่าเหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้างตึก สตง.ที่ถล่ม...ที่ผลิตโดย “ซิน เคอ หยวน” จึงไม่ผ่านมาตรฐาน และจำไม่ผิดก่อนเกิดเรื่อง ก.อุตสาหกรรม ก็เคยสั่งอายัดเหล็กเส้นจากโรงงานนี้มาแล้วหนึ่งลอต (2.4 พันตัน) ด้วยเหตุที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก.เช่นกัน... คำถามสำคัญคือ...เหล็กเส้นของจีน(ในไทย)ที่ผลิตโดยเตา IF…เข้าไปอยู่ไซต์งานก่อสร้างไหนบ้าง...แล้วจะถล่มอีกไหม...????
เรื่องนี้ยาวครับ“แนวหน้าโลกธุรกิจ”จะกลับมานำเสนออย่างต่อเนื่องในอีกหลายแง่มุม
พงษ์พันธ์ุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี