นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 5,701 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ พบว่านี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 50.8 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นหรือมีค่ามากกว่าระดับ 50 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น คาดว่ามาจาก 1. การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อเพิ่มการบริโภคในประเทศ รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและหนี้สิน ของภาคธุรกิจ และ 2. การส่งออกยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามทิศทางการขยายตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการกำแพงภาษี อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ นโยบายด้านการค้า ของสหรัฐฯ ความกังวลของประชาชนต่อภาระหนี้สิน เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ รวมถึงความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็น 50.52 % รองลงมาคือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็น 15.21 % สังคม/ความมั่นคง คิดเป็น 7.80 % ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็น 7.72 % เศรษฐกิจโลก คิดเป็น 6.91 % การเมือง คิดเป็น 5.14 % ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็น 4.14 % ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็น 1.63 % และอื่น ๆ คิดเป็น 0.93 %
“ ความกังวลของประชาชนต่อภาระหนี้สิน ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าของไทย ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ” นายพูนพงษ์กล่าว
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 2 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 55.1 และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 52.1 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นคือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ สังคม/ความมั่นคง และเศรษฐกิจโลก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 49.7 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 48.2 และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.1 ปรับลดลงเล็กน้อย จากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อาทิ ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และหนี้สิน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า 5 กลุ่มอาชีพมีดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น โดยพนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 55.2 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 51.3 นักศึกษา อยู่ที่ระดับ 51.6 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 50.2 และพนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 50.1 ขณะที่มี 2 กลุ่มอาชีพที่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น ได้แก่ อาชีพรับจ้างอิสระอยู่ที่ระดับ 49.4 และไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 46.9 สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยอยู่ที่ระดับ 41.7
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวว่า ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงการลดภาระหนี้สินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ การขยายตัวของการส่งออกจากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นอีกทางหนึ่ง และในอนาคต โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 3 และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีผลทำให้เกิดการใช้จ่ายในทุกภูมิภาคและทุกภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประชาชนปรับตัวดีขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี