นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ได้มีมติเห็นชอบให้ 1.ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ (จากปกติ 2%) เหลือ 0.01% และ 2.ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากปกติ 1%) เหลือ 0.01% สำหรับสำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 2 ประเภท ได้แก่ 1.อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว และ 2.ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
“ กระทรวงการคลังต้องการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูง จึงกำหนดระยะเวลามาตรการนี้ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV โดยให้มาตรการนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ซึ่งจากข้อมูลในอดีต เมื่อ 2 มาตรการนี้ทำงานควบคู่กัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก “ นายเผ่าภูมิกล่าว
ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต ทั้งความเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Forward Linkage) ไปยังภาคการผลิตต่าง ๆ เช่น สาขาการค้า สถานที่เก็บสินค้าและบริการสินค้า บริการทางการเงิน การประกันชีวิต วิทยุ และโทรทัศน์ บริการบันเทิงและบริการส่วนบุคคล และมีผลต่อความเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward Linkage) เช่น สาขาการผลิตเหล็ก การผลิตซีเมนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต โรงเลื่อย การผลิตโลหะ การผลิตเครื่องจักร เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังสูงที่จะปล่อยสินเชื่อ เพราะจะเกิดหนี้เสีย ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มียอดปฏิเสธสินเชื่อ ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทั้งตลาดมากกว่า 40 % แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท 55-60 % ระดับราคา 3-7 ล้านบาท 40 % และระดับราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป 15 %
อนึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานผลสำรวจภาคสนามอุปทานและอุปสงค์ โครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ประจำไตรมาส 4 ปี 2567 สถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุด ในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ปรับตัวลดลงทั้งอุปสงค์ และอุปทานโดยอุปสงค์ที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 มีจำนวน 15,038 หน่วย ลดลง 21.6 % มูลค่า 90,713 ล้านบาท ลดลง 8.1 % ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในไตรมาส 4 มีจำนวน17,153 หน่วย ลดลง 45.3 % มูลค่า 137,882 ล้านบาท ลดลง 42.5 % การปรับตัวดังกล่าวมีผลให้หน่วยที่มีการเสนอขายทั้งหมดในตลาด ปี 2567 ลดลง 3.3 % แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 8.2 % โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 275,541 หน่วย มูลค่า 1,700,189 ล้านบาท มีโครงการเปิดขายใหม่ทั้งสิ้น 62,771 หน่วย ลดลง 34.9 % มูลค่า 500,957 ล้านบาท ลดลง 16.2 % มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่รวม 59,585 หน่วย ลดลง 20.8 % มูลค่า 348,991 ล้านบาท ลดลง 10.7 % มีผลให้หน่วยเหลือขายสิ้นงวด ณ ปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 215,956 หน่วย เพิ่มขึ้น 2.9 % คิดเป็นมูลค่า 1,351,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5 %
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังระบุอีกว่าแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน ปี 2568 ในกรณีปกติ ถ้ากำลังซื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น การโอนมีแนวโน้มเพิ่มได้ที่ 1.6% แต่ถ้าหากรัฐบาลมีการต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง และผ่อนปรน LTV-loan to value จะเป็นปัจจัยบวกที่คาดว่าทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศกลับมาบวกได้มากถึง 10 % และจากมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% หรือค่าใช้จ่ายจากล้านละ 30,000 บาท ลดเหลือล้านละ 300 บาทในปี 2567 ที่มีอายุมาตรการระหว่าง 9 เมษายน-31 ธันวาคม 2567 รายได้จัดเก็บค่าโอนและจดจำนอง ณ กรมที่ดินลดลง 25.8% วงเงินรวม 5,000 กว่าล้านบาท โดยปี 2567 จัดเก็บได้ 14,117 ล้านบาท เทียบกับรายได้จัดเก็บปี 2566 จำนวน 19,031 ล้านบาท ซึ่งเป็นโจทย์ของรัฐบาลเช่นเดียวกันว่าหากต่ออายุมาตรการในปีนี้จะต้องนำงบประมาณแผ่นดินส่วนไหนมาอุดหนุนเพื่อกระตุ้นการซื้อและโอนที่อยู่อาศัยในปี 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี