** จาก Reciprocal Tariff ที่สหรัฐฯเก็บไทย 37 % มีการประเมินจากหลายฝ่ายว่าจะกระทบกับการส่งออกไทยแน่นอน ตัวเลขเบื้องต้นคาดว่า จะกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4 แสนล้านบาทในปี 2568 ( ตัวเลขดังกล่าว อาจจะปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐหลังจากนี้ ) และสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถูกเก็บภาษีอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมี.ค.2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง…อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่า และกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย...อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาด อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ 2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป...
อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบชัดเจนมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์….อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิต และการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง...อุตสาหกรรมเหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปสหรัฐสูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญคำสั่งซื้อลดลง และกระทบความสามารถการแข่งขันเพราะคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ารักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
ทั้งนี้นอกจากการค้าโลกที่จะชะลอตัวส่งผลต่อสินค้าที่ไทยจะส่งไปทั่วโลก ที่สำคัญสินค้าจากประเทศอื่น ที่ราคาถูกโดยเฉพาะจีนซึ่งโดนภาษีถึง 54 % และเวียดนาม 46 % จะไหลเข้ามาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และมาในประเทศไทยด้วย แม้ว่าระยะสั้นจะบอกไม่ได้มากน้อยแค่ไหน แต่คาดการณ์ได้เลยว่าระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอน ผู้ประกอบการในประเทศจะต้องปิดตัวลง ครอบคลุมถึง 30 อุตสาหกรรม
ในภาคการลงทุนของไทย ผลจาก Reciprocal Tariff จะทำให้เกิดภาวะ Wait & See ของการลงทุนในไทยจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนจากจีนส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปขายตลาดสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงการกีดกันสินค้าส่งออกจากจีนโดยตรง รวมถึงการลงทุนในประเทศที่อาจ Wait & See โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่อาจรอดูความชัดเจนของการเจรจาการค้าของรัฐบาลไทยเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายภาษีครั้งนี้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด...ประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปีก่อนหน้าอาจล่าช้าออกไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก ประกอบกับได้คำนึงถึงผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มี.ค. ที่คาดว่าจะส่งผลให้การก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจล่าช้าออกไปเล็กน้อย จากก่อนหน้านี้ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการลงทุนภาคเอกชนในภาคก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องในปีนี้อยู่แล้ว ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการลงทุนภาคเอกชนปี 2568 จะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.5%
และสิ่งแรกๆที่จะสะท้อนภาพของการลงทุนของไทยคือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ (MPI) และจากผลของ Reciprocal Tariff ประกอบภาพกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ (MPI) เสี่ยงจะหดตัวลงกว่าเดิม หรือติดลบ 3.4% ในปี 2568 (เดิมคาดที่ติดลบ 1.0%)
** กระบองเพชร**
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี