หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 44 ในเดือนมีนาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการปรับกลยุทธ์รับมือสินค้านำเข้าจากจีน” พบว่า จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาการระบายอุปทานที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply) เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงไทยและอาเซียน ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การไหลทะลักเข้าของสินค้าจีน สร้างผลกระทบทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยลดลงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงยังกดดันความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากในภาพรวมราคาสินค้านำเข้าจากจีนมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ประมาณ 20 - 40% ซึ่งเกิดจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตของจีน สินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาดทำให้ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน จนอาจทำให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดกิจการได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ จึงเสนอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มีปรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุนฯ (Countervailing Duty: CVD) ให้มีประสิทธิภาพและทันกับสถานการณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เร่งสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าไทย อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบริการหลังการขาย ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 540 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 44 มี พบว่า สินค้าที่ผลิตในประเทศ 70.9% ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิต ถือเป็น จุดแข็งของสินค้าจีนที่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดประเทศไทยได้มากที่สุด รองลงมามีความหลากหลายของสินค้า การผลิตแบบ OEM/ODM ที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมทั้งสินค้ามีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
หม่อมหลวงปีกทอง กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัญหาสินค้านำเข้าจากจีนและผลกระทบจากสงครามการค้าในเรื่องสินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาดส่งผลกระทบต่อ ขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs มากที่สุด รองลงมาคือการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งผ่านด่านศุลกากรและแพลตฟอร์มออนไลน์อีกทั้งการการนำเข้าสินค้ามาสวมสิทธิ์ในการส่งออก หรือใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพียงส่วนน้อยรวมทั้งการขาดดุลการค้าและดุลการค้าที่ไม่สมดุลส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากสินค้านำเข้าจากจีน โดยส่วนใหญ่ต้องการให้เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษ ผู้ที่กระทำความผิด และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยรองลงมาปรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนฯ ให้มีประสิทธิภาพและทันกับสถานการณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ อีกทั้งทบทวนเงื่อนไขการใช้เขตปลอดอากร (Free Zone) และออกมาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าเข้ามาสวมสิทธิ์ส่งออก ตามลำดับ
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี