หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 44 ในเดือนมีนาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อ การปรับกลยุทธ์รับมือสินค้านำเข้าจากจีน” พบว่า จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาการระบายอุปทานที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply) เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงไทยและอาเซียน และ ผู้บริหารบริษัทที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การไหลทะลักเข้าของสินค้าจีน สร้างผลกระทบทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยลดลงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงยังกดดันความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากในภาพรวมราคาสินค้านำเข้าจากจีนมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ประมาณ 20 - 40% ซึ่งเกิดจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตของจีน สินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งกังวลว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน จนอาจทำให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดกิจการได้
“ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ จึงเสนอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มีปรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุนฯ (Countervailing Duty: CVD) ให้มีประสิทธิภาพและทันกับสถานการณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ”หม่อมหลวงปีกทอง กล่าว
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เร่งสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าไทย อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบริการหลังการขาย ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 540 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า สินค้าที่ผลิตในประเทศ 70.9% ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิต ถือเป็น จุดแข็งของสินค้าจีนที่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดประเทศไทยได้มากที่สุด รองลงมามีความหลากหลายของสินค้า การผลิตแบบ OEM/ODM ที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมทั้งสินค้ามีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัญหาสินค้านำเข้าจากจีนและผลกระทบจากสงครามการค้าในเรื่องสินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาดส่งผลกระทบต่อ ขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs มากที่สุด รองลงมาคือการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งผ่านด่านศุลกากรและแพลตฟอร์มออนไลน์อีกทั้งการการนำเข้าสินค้ามาสวมสิทธิ์ในการส่งออก หรือใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพียงส่วนน้อย รวมทั้งการขาดดุลการค้าและดุลการค้าที่ไม่สมดุลส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าไทย 37 % ว่า จากการติดตาม สอบถามในกลุ่มผู้ส่งออกไทย ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความกังวลมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการซื้อ-ขาย ล่วงหน้าและมีการตกลงราคาแล้ว จะยังสามารถส่งมอบได้หรือไม่ หรือว่าภาษีที่ นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าไทย 37% ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเก็บกับผู้นำเข้าไหม เพราะแบบนั้นผู้นำเข้าขึ้นราคาสินค้า ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภคของสหรัฐและมีผลต่อกำลังซื้อและคำสั่งซื้อใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้หลังจากวันที่ 9 เม.ย. 68 จำเป็นจะต้องมีการติดตาม รายละเอียดของการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่าจะมีรายละเอียดและขั้นตอนอย่างไร จะเหมือนการปรับขึ้นภาษีวันที่ 5 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะในเงื่อนไขระบุว่าสินค้าดังกล่าวจะต้องส่งมอบ หรือ ถึงสหรัฐ ก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ถ้าหลังจากนั้นสินค้าจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10 % อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าผู้นำเข้าก็ยังไม่มั่นใจ ทำให้ต้องชะลอส่งมอบสินค้า โดยขณะที่เราอยากขายสินค้า ดังนั้น การเจรจาต่อรองจึงจำเป็นจะต้องเดินหน้า ส่วนคำสั่งซื้อใหม่นั้น ชัดเจนว่าจะยังไม่มี เพราะทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่รู้ว่าอัตราภาษีที่ปรับขึ้น จะเป็นภาระของใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม 2568 การส่งออกยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นายพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการของภาครัฐ 5 แนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัมป์ 2.0 ทางเอกชนเห็นด้วยในหลักการ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เอกชนได้มีการเข้าไปพูดคุย หารือกับภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2568 รวมถึงข้อเสนอต่างๆ โดยสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องเข้าไปดูโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้าเกษตร มาตรการทางกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค เป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องแก้ไข รวมไปถึงการสวมสิทธิ์ใช้ไทยเป็นแหล่งส่งออก หรือการใช้ถิ่นกำเนิดไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ เรื่องนี้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาดูแลและเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะใน 49 หมวดสินค้าสำคัญ
“ สิ่งที่อยากจะฝากภาครัฐด้านการเจรจากับสหรัฐ อยากให้จัด “ทีมไทยแลนด์” ขึ้นมาโดยมีนายกเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการวิเคราะห์ สรุปข้อมูล และอยากให้มีคณะที่สามารถจะเคาะมาตรการ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ส่วนทีมเจรจากับคณะทำงานแยกกันได้ สิ่งที่สหรัฐต้องการให้ไทยนำเข้าก็จะมี 4 หมวดสำคัญ คือ พลังงาน เกษตร-อาหาร เครื่องบิน อาวุธ เป็นสิ่งที่จะต้องมาหารือ และต้องยอมรับว่าการเจรจานั้นย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย ” นายพจน์กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี