‘พาณิชย์’ถกด่วนผ่านซูม! ร่วมกับรมต.ด้านเศรษฐกิจ 10 ประเทศอาเซียน จับมือสหรัฐฯ เดินหน้าความร่วมมือเศรษฐกิจ พร้อมตั้งคณะทำงานพิเศษ รับมือมาตรการภาษี
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันนี้ (10 เม.ย.2568) ตนได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษ ผ่านระบบทางไกล กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต เพื่อหารือแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการรับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้มาตรการจัดเก็บภาษีแบบตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา และเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานโลก และการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรของอาเซียน
โดยการประชุมครั้งนี้ อาเซียนมีมติจะออกถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อแสดงจุดยืนของอาเซียน ในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับสหรัฐฯ พร้อมเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ ลดความขัดแย้งทางการค้า และหาทางออกที่สมดุลร่วมกัน ภายใต้กรอบ ASEAN-US Strategic Trade and Investment Partnership (STIP) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือในสาขาศักยภาพสูงกับสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล AI อาหาร พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมขั้นสูง รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ สุขภาพ โลจิสติกส์ รวมถึงเกษตรกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ภูมิภาค และย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี โดยอาเซียนจะไม่ตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะทำงานพิเศษ “ASEAN Geoeconomics Task Force” ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน
นายพิชัยกล่าวว่า ตนได้ติดต่อกับนายจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ในเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน USTR ได้ตอบรับที่จะหารือกับไทยแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างนัดหมายวันประชุม เพื่อต่อยอดแนวทางความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ให้ตนเป็นผู้เจรจาหลักกับ USTR สหรัฐฯ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน สำหรับประเทศที่แสดงความประสงค์เจรจาปรับสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เตรียมหารือเชิงลึกกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายปี 2567 แล้ว
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2567 ราว 476,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกสินค้าสำคัญไปสหรัฐฯ 5 อันดับแรก คือ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง รองเท้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร และนำเข้าจากสหรัฐฯ 5 อันดับแรก คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องยนต์
สำหรับไทย สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 74,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 19,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลการค้ากว่า 35,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี