** เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศทุกสินค้า 10% (Universal tariffs) ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดา เริ่มใช้ 5 เม.ย. พร้อมขึ้นภาษีเพิ่มเติม (Reciprocal tariffs) กับ 60 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง ในอัตราต่างกัน ขึ้นกับดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศนั้น จะเริ่มใช้ 9 เม.ย. แต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์กลับประกาศเลื่อนกำหนดปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariffs) ออกไป 90 วัน เป็นเริ่มมีผล 8 ก.ค. แต่ยังเก็บภาษีขั้นต่ำทุกประเทศเพิ่ม 10% (Universal tariffs) โดยสหรัฐฯ จะให้เวลาประเทศต่าง ๆ 90 วัน เพื่อเจรจาต่อรองให้อัตราภาษี Reciprocal tariffs ลดลง สำหรับจีน ทรัมป์กลับประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกหลายรอบ ทำให้กำแพงภาษี Reciprocal กับจีนอยู่ที่ 125% และภาษีเฉพาะเจาะจงที่ 20% รวมเป็น 145% เพื่อตอบโต้จีนที่ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อน
นอกจากชุดภาษี Universal และ Reciprocal tariffs นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะ (Specific tariffs) รายประเทศ/รายสินค้าหลายรายการตั้งแต่ต้นปี เพื่อลดการขาดดุลกับคู่ค้าใหญ่อันดับแรก ๆ ก่อน และปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศ ได้แก่ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 20% ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา 25% (เฉพาะสินค้าที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามสนธิสัญญาการค้า USMCA ร่วมกับสหรัฐฯ) รวมถึงการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม และสินค้ายานยนต์ 25% จากคู่ค้าทุกประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนจะขึ้นภาษีเฉพาะบางสินค้าเพิ่มเติม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ 25%, สินค้าเกษตร 25% และเวชภัณฑ์ 20%
หากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีทั้งหมดตามที่ประกาศไว้ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับประเทศทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% ขณะที่คู่ค้าเอเชียและอาเซียนโดนแรงกว่า ถ้าหากรวม Reciprocal tariffs, Universal tariffs และภาษีเฉพาะ (Specifics tariffs) ที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ต้นปีมานี้ จะพบว่า สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าทั่วโลกเฉลี่ย 17% แต่เศรษฐกิจเอเชียและอาเซียนถูกเก็บภาษีเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 23% และ 33% ตามลำดับ สาเหตุหลักเพราะประเทศเอเชียส่วนใหญ่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก โดยเฉพาะอาเซียน
สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าไทยในอัตรา 36% ติดอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้า และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูงกว่า นอกจากเรื่องนี้ สหรัฐฯ ยังระบุไว้ในรายงาน Foreign Trade Barriers 2025 ว่า ไทยตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ สูงเฉลี่ย 9.8% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยเพียง 3.3% โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ไทยเก็บสหรัฐฯ 27%) นอกเหนือจากการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังกล่าวถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ และสิทธิเสรีภาพของแรงงานในไทยด้วย
แม้สหรัฐฯ จะเปิดช่อง 90 วันให้ทุกประเทศเจรจาข้อเสนอแลกเปลี่ยนการลดภาษีตอบโต้นี้ได้ แต่อัตราภาษีที่สหรัฐฯ จัดเก็บจริงน่าจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก SCB EIC ประเมินว่าหากสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีตามที่ประกาศไว้ทั้งหมด อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tariff Rate : ETR) ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 20% อย่างไรก็ดี การขอเจรจาของประเทศต่าง ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของภาษีได้บ้าง แค่ในส่วน Reciprocal tariffs และ Specifics tariffs รายประเทศ แต่สำหรับ Universal tariffs และ Specifics tariffs รายสินค้า อาจเจรจาได้ยาก เพราะสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า ต้องการใช้เป็นอัตราภาษีขั้นต่ำส่วนเพิ่ม และปกป้องบางอุตสาหกรรมในประเทศ
การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หากคิดเป็นสัดส่วนของ GDP จะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งค่อนข้างสูง เทียบประเทศเศรษฐกิจหลักและอาเซียน ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal rate สูงกว่าเช่นกัน ไทยจึงได้รับผลกระทบสูง หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% จริง SCB EIC ประเมินว่า Nominal GDP ไทยอาจลดลงราว -3.3pp (ผลสะสมเฉลี่ยภายใน 3 ปี) ผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไทยที่ลดลง สาเหตุเพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ มีบทบาทต่อ GDP ไทยสูง คิดในรูปของ Domestic Value Added (DVA) ต่อ GDP ไทยราว 7 – 8%
SCB EIC มองผลกระทบทางตรงผ่าน 2 ช่องทาง 1.Income Effect : สหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าไทยและคู่ค้าอื่น ๆ น้อยลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงมากจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเองครั้งนี้ รวมทั้งสินค้าส่งออกไทยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ สูง กดดันให้ไทยเผชิญปัญหาการหาตลาดใหม่ จากแนวโน้มสินค้าล้นตลาดทั่วโลก และ Top-11 ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวมกันมากถึง 84% ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด และคิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด นอกจากนี้ 7 จาก Top-11 ที่สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อมูลค่าส่งออกสินค้านั้นทั้งหมดสูงกว่า 20% ข้อมูลนี้สะท้อนว่า สินค้าส่งออกไทยกระจุกตัวและพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนประกอบ มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดสูงถึง 7.7% และเน้นส่งออกไปสหรัฐฯ สูง คิดเป็น 45.1% ของมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด
2.Substitution Effect : สหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ไทยสูง 36% แต่คู่แข่งโดนภาษีน้อยกว่ามาก (ส่วนใหญ่ 10%) ซึ่งสหรัฐฯ อาจหันไปนําเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายถูกกว่าไทย หากประเมินจากกลุ่ม Top-11 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ พบว่า 9 ใน 11 สินค้าที่ไทยติด Top 5 ประเทศที่โดนอัตราภาษีสหรัฐฯ สูง (จาก Top-20 ประเทศส่งออกสินค้านั้น ๆ ไปสหรัฐฯ ) สะท้อนการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ Substitution Effect รุนแรงจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้สินค้ายานยนต์ และเหล็กอาจโดนผลกระทบจาก Substitution Effect จำกัด เพราะทุกประเทศโดนภาษีเฉพาะสินค้า 25% เท่ากัน
นอกจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงเกือบ 20% แล้ว การส่งออกไปตลาดอื่นก็กระจุกตัวในประเทศที่โดนภาษีสหรัฐฯ สูงเช่นกัน SCB EIC พบว่า Top-15 ตลาดคู่ค้าของไทยรองจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวม 73.4% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด โดย 12 จาก 15 ตลาดคู่ค้าไทยกลุ่มนี้ก็โดนกำแพงภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 16% อีกด้วย จึงมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้อาจชะลอตัวลง นำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมต่อความต้องการสินค้าส่งออกไทย ผ่านหลายช่องทาง เช่น 1. ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทยลดลง เช่น เศรษฐกิจจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) คาดว่าจะชะลอตัวลงจากมาตรการกีดกันการค้ารอบนี้ ย่อมส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยลดลงตาม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักและผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลัก (เช่น ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนในปี 2567มากถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด)
2. ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง เช่น ไม้ยางพารา ยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก (โดยเฉพาะกลุ่ม Styrene และ Ethylene) และอะลูมิเนียมรีด (สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องเครื่องดื่ม) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนสูง อาจถูกกระทบหากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง 3. การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ทำให้ต้องระบายสินค้าออกสู่ตลาดอื่น ๆ มากขึ้น 4. บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลงการส่งออกสินค้าของจีนไปสหรัฐฯ จะยากขึ้นมากหลังมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากกับจีนกว่าประเทศอื่น และจีนยังมีการผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ (Overcapacity) จึงมีโอกาสที่สินค้าจีนจะถูกระบายเข้ามายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการทะลักเข้ามาตีตลาดของกลุ่มสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำจากจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็ก กระดาษ และเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของการผลิตสินค้าของไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าของจีนในไทยมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะส่งไปขายยังสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายในเชิงกีดกันสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพึ่งพาสินค้ากลุ่มกลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบจากจีนมากขึ้นกว่าเดิม SCB EIC มองว่าการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจากผลกระทบของนโยบายของ Trump 2.0 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่ยังอ่อนแอ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี