ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ( SCB EIC ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเหลือ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) จากการประกาศขึ้นภาษีชุดใหญ่ของสหรัฐฯ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด (เดิม 2.4%YOY) โดย SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะแผ่วลงอย่างมาก จากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลเดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปมาเช่นนี้ จะมีผลให้ธุรกิจชะลอการลงทุนทันที เพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง ในการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลงครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนเอกชนที่ปรับแย่ลง
ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้า (รวมทองคำ) คาดว่าจะหดตัว -0.7%YOY (เดิม 1.6%YOY) โดยจะมีแนวโน้มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 จากผลของภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมี มูลค่าส่งออกไทยทั้งปีอาจดูหดตัวไม่มาก แม้ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ สาเหตุหลักเพราะ 1. มูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ออกมาแล้ว เติบโตดีเกือบ 14%YOY และ 2. มูลค่าการส่งออกทองขยายตัวสูงตามราคาทองคำ
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะยังไม่ฟื้นในปีนี้ มองขยายตัวเพียง 0.3%YOY (เดิม 2.9%YOY) จากที่หดตัวในปีก่อน ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นมาก ธุรกิจต่างชาติอาจต้องรอดูท่าทีรัฐบาลสหรัฐฯ ต่ออาเซียนและไทย รวมถึงผลการเจรจาของรัฐบาลไทย ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ที่เคยมองว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญในปีนี้ ขณะที่การลงทุนจากธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้าง และการลงทุนในยานพาหนะเชิงพาณิชย์จะยังคงซบเซา ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนไทยฟื้นตัวไม่ได้ในปีนี้
นอกจากนี้องค์ประกอบอื่น ๆ ของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ เช่นกัน 1.การท่องเที่ยว ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลง 1.5 ล้านคนเหลือ 36.7 ล้านคน ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้อุปสงค์การท่องเที่ยวไทยลดลงตาม 2.การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวเหลือ 2.2%YOY (เดิม 2.6%YOY) ตามการปรับลดลงของรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง ภาพการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะยังขยายตัวได้ระดับหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ที่จะยังมีต่อเนื่อง 3.มูลค่าการนำเข้าสินค้า คาดจะขยายตัวเหลือ 0.9%YOY แม้อุปสงค์ในประเทศจะปรับลดลง แต่มองว่าการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าบริโภคอาจรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นมากในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับความสำเร็จและระยะเวลาในการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทยเป็นหลัก
นโยบายการเงินจำเป็นต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มาตรการภาษีทรัมป์ที่มากกว่าคาดมาก จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างมีนัย นโยบายการเงินจะมีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง เหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2561 – 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รอบแรกที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ทั้งนี้ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือนมีนาคม 2025 ได้แก่ 1. ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ 2. ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร 3. แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีการเจรจาต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศอย่างสมดุล นอกเหนือจากประเด็นจาก USTR ที่ระบุไว้ ไทยควรคำนึงถึงการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศควบคู่กัน โดยมีกลไกดูแลผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งการเตรียมตัวรับมือต่อการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านคุณภาพสินค้า แนวทางป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อขยายตลาดและโอกาสการค้า การลงทุน และการสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง
SCB EIC
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี