** ราคาน้ำมันโลกอยู่ในช่วงปรับตัวลดลง...คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 จึง มีมติเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเฉพาะกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ เพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นทันที ประมาณ 1 บาทต่อลิตร ยกเว้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เก็บเพิ่มขึ้นถึง 1.53 บาทต่อลิตร...โดยอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็นดังนี้ ผู้ใช้เบนซินออกเทน 95 ถูกเก็บเพิ่มเป็น 10.71 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพิ่มเป็น 2.70 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เพิ่มเป็น 3.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เพิ่มเป็น 4.40 บาทต่อลิตร…ส่วนกลุ่มดีเซล อัตราเรียกเก็บไม่เปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดีเซลและดีเซล B20 เรียกเก็บ 3 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียมเรียกเก็บ 4.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลเข้าวันละ 360 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลเข้าจากน้ำมันกลุ่มเบนซิน 136 ล้านบาท จากน้ำมันกลุ่มดีเซล 206 ล้านบาท และจาก LPG 18 ล้านบาท...โดยภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 6 เม.ย. 2568 พบว่า เงินกองทุนฯ เหลือติดลบรวม -56,652 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบลดลงเหลือ -10,855 ล้านบาทและบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -45,797 ล้านบาท...ส่วนค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันเรียกเก็บจากประชาชน ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 10 เม.ย. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.69 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.79 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.87 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 4.23 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 2.10 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-10 เม.ย. 2568 อยู่ที่ 2.82 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)....
** การผลิตไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดให้...การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงพบว่า ณ สิ้นปี 2567 กำลังผลิตไฟฟ้าของไทยรวมประมาณ 50,724.1 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. ผลิตจริงเพียง 16,226.02 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.06% ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผลิตอยู่ 18,973.50 เมกะวัตต์ คิดเป็น 37.4% และในจำนวน 18,973.50 เมกะวัตต์ เป็นของบริษัทรายเดียวถึง 16,000 เมกะวัตต์ และที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กว่า 9,000 เมกะวัตต์ ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ให้ราคาสูงและสัญญาการผลิตไฟฟ้าสามารถต่อได้โดยอัตโนมัติทุก 5 ปี ไม่มีสิ้นสุดสัญญา...ส่วนปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP ) ไฟฟ้า กรณีที่หน่วยงานรัฐไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่า AP ให้ผู้ผลิตไฟฟ้า แม้กระทั่งสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายค่า AP อยู่ดี กลายเป็นภาระของประชาชน โดยกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 50,724 เมกะวัตต์ ในปี 2567 มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) 36,000 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าจะพบว่าใช้จริงเพียง 25,100 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 25,600 เมกะวัตต์ เป็นไฟสำรองที่ต้องจ่าย AP โดยผู้ประกอบการไม่ต้องทำอะไรเลย…”ปัญหาเหล่านี้มีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและเป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข” !! นี่คือคำพูดของ..นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน...ที่ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่ง...ในบรรยายในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต” ให้แก่ผู้อบรมหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 2…ถึงตรงนี้ประชาชนคงเข้าใจแล้วนะว่าทำไมประเทศไทยค่าไฟฟ้าแพงประเทศเพื่อบ้านมากนัก...
** ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละเดือนในปี2568...เดือน ม.ค. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 9 ม.ค. 2568 เวลา 12.25 น. ที่ระดับ 26,116.5 เมกะวัตต์...เดือน ก.พ. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 17 ก.พ. 2568 เวลา 19.26 น. ที่ระดับ 30,857.7 เมกะวัตต์...เดือน มี.ค. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 11 มี.ค. 2568 เวลา 20.37 น. ที่ระดับ 32,882.3 เมกะวัตต์...เดือน เม.ย. 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. 2568 เวลา 20.37 น. ที่ระดับ 31,870.9 เมกะวัตต์...และยอดการใช้ไฟฟ้าของไทยกำลังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนในเดือน เม.ย. แม้จะมีบางพื้นที่เกิดฝนตก แต่สภาพอากาศก็ยังร้อนอบอ้าว ส่งผลให้ประชาชนเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อคลายร้อน... อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พบว่าพีคไฟฟ้าของปี 2568 ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 นี้ ยังต่ำกว่าพีคไฟฟ้าที่เป็นสถิติสูงสุดของไทยในระบบของ 3 การไฟฟ้าที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 เวลา 22.24 น. โดยกระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าพีคไฟฟ้าปี 2568 มีโอกาสสูงใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ผ่านมา...โดยตลอดปี 2567 ได้เกิดพีคไฟฟ้าขึ้นถึง 11 ครั้ง เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมทั่วประเทศ โดยบางพื้นที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 44 องศาเซลเซียส โดยในเดือน เม.ย.- พ.ค. 2567 ได้เกิดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปถึง 4 ครั้ง โดยไปจบที่สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ วันที่ 2 พ.ค. 2567 เวลา 2.24 น. ที่ระดับ 36,792.1 เมกะวัตต์…อย่างไรก็ตามแม้ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของไทย (จากระบบไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า) ยังมีเพียงพอรองรับพีคไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน โดยในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง PDP 2024) ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่มีข้อมูลระบุว่าการผลิตไฟฟ้าของไทยในปี 2568 ยังใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ประมาณ 55,947 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2567 กระทรวงพลังงานระบุว่าไทยยังมีสำรองไฟฟ้าเหลืออยู่ 25.5% ดังนั้นจึงเพียงพอรองรับพีคไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน...**
**กระบองเพชร**
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี