นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 ตนได้ร่วมหารือกับ เต็งกู ดาโต๊ะ ศรี ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2568 นี้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและมาเลเซีย รวมถึงระดับภูมิภาค เพื่อเตรียมรับมือกับนโยบายการค้าใหม่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการจัดเก็บภาษีต่างตอบแทน ที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาค
โดยทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องในการสนับสนุนถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่ยืนยันความเป็นหนึ่งเดียวกัน และอาเซียนจะเป็น "หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน" กับสหรัฐฯ รวมทั้งเน้นย้ำความจำเป็นในการส่งเสริมการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าอย่างสมดุล โดยอาเซียนจะยังยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีและหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า
ทั้งนี้ตนได้เสนอประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ให้เร่งจัดการประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และจุดยืนร่วมของอาเซียน สำหรับการหารือกับสหรัฐฯ พร้อมเชิญชวนประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งและแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์และยั่งยืน อันจะนำไปสู่การรักษาผลประโยชน์ของภูมิภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในระยะยาวต่อไป ซึ่งในเดือนหน้าจะมีการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 25 และการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 46 ขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยผู้นำและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ก็จะได้มีการหารือแนวทางในประเด็นดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้รัฐมนตรีการค้าทั้ง 2 ประเทศ ยังได้หารือกันถึงมาตรการป้องกันปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจากการดำเนินการได้ดำเนินคดีสินค้าผิดกฎหมายแล้ว 24,626 คดี เก็บ VAT เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท ส่งผลนำเข้าสินค้าออนไลน์ลดเฉลี่ยเดือนละ 3,645 ล้านบาท
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงอย่างยิ่งของโลก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 660 ล้านคน มูลค่า GDP รวมกว่า 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และแนวโน้มการเติบโตของการค้าในภูมิภาคที่แข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยไทยพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการยึดมั่นในหลักการเปิดกว้าง เชื่อมโยง และยั่งยืนกับทุกประเทศคู่ค้า และพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก
สำหรับมาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มอาเซียน โดยในปี 2567 การค้ารวมไทย-มาเลเซีย มีมูลค่า 26,055.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.88% โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามูลค่า 1,385.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปมาเลเซีย อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกงปี 2568 การค้า 2 ฝ่ายมีมูลค่า 4,126.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.28% โดยเป็นการส่งออก 2,011.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 2,114.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในขณะนี้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของอาเซียนมายาวนาน โดยในปี 2567 สหรัฐฯและอาเซียน มีมูลค่าการค้าทั้งหมด 476.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 352.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13.3% และส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 124.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16.6% สินค้าสำคัญที่สหรัฐฯนำเข้าจากอาเซียน อาทิ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง รองเท้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร และสินค้าสำคัญที่สหรัฐฯส่งออกไปอาเซียน อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องยนต์
-032
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี