กระทรวงพาณิชย์ เผยไทยส่งออกสินค้าไปตลาดคู่ FTA ในปี 2567 มีมูลค่าสูงถึง 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% ตลาดเปรู อินเดีย นิวซีแลนด์ จีน ชิลี อาเซียน ขยายตัวได้ดี พร้อมแนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่อเนื่อง เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การค้าของไทยในปี 2567 พบว่า การส่งออกขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย ซึ่งการค้ารวมของไทยกับกลุ่มประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 360,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2566 และการส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 172,046 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3%
สำหรับตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี อาทิ เปรู ขึ้นเพิ่ม 33%, อินเดีย เพิ่มขึ้น 16% ,นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 13% ,จีน เพิ่มขึ้น 3% ,ชิลี เพิ่มขึ้น 3% และอาเซียน เพิ่มขึ้น 5% โดยประเทศอาเซียน อาทิ กัมพูชา เพิ่มขึ้น 43% ,สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 6% ,เวียดนาม เพิ่มขึ้น 5% ,มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 3% และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 1%
“FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย รวมทั้งช่วยสร้างแต้มต่อและเพิ่มศักยภาพทางการเเข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก โดยคาดว่าในปี 2568 การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก มีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการสำรองสินค้าเพื่อความมั่งคงทางอาหาร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมี FTA ด้วย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เต็มที่”นายสุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ในปัจจุบันไทยมี FTA ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และมี FTA ไทย-ศรีลังกา เป็น FTA ฉบับที่ 15 คาดว่าจะผลบังคับใช้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ไทยได้ลงนาม FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับประเทศในยุโรปอีกด้วย และล่าสุดได้ลงนาม FTA ไทย-ภูฏาน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าของไทยในปี 2567 เมื่อพิจารณาในรายสินค้า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปประเทศคู่ FTA เติบโตสูง มีมูลค่า 127,603 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% คิดเป็นการส่งออกไปตลาด FTA สัดส่วน 54% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 48% ,ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เพิ่มขึ้น 23% ,เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เพิ่มขึ้น 14% ,เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 13% ,ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เพิ่มขึ้น 12% และเคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 8%
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปไปประเทศคู่ FTA แม้ในภาพรวมจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่ FTA ลดลง 0.5% และสินค้าเกษตรแปรรูป ลดลง 1% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดสภาวะภัยแล้ง จนกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทย และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาในรายสินค้า พบว่า มีสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสำคัญหลายรายการที่ยังคงส่งออกได้ดี อาทิ กาแฟ เพิ่มขึ้น 105% ,เครื่องเทศและสมุนไพร เพิ่มขึ้น 49% ,ยางพารา เพิ่มขึ้น 30% ,ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้น 22% ,โกโก้และของปรุงแต่ง เพิ่มขึ้น 17% ,ซุปและอาหารปรุงแต่ง เพิ่มขึ้น 14% ,ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เพิ่ม ขึ้น10% และปลา เพิ่มขึ้น 8%
นอกจากนี้ปัจจุบันไทยยังคงครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
ทั้งนี้ในปี 2568 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีแผนที่จะเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา เกาหลีใต้ พร้อมทั้งมีเป้าหมายเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ ได้แก่ บังกลาเทศ สหราชอาณาจักร สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance และตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ MERCOSUR
-033
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี