นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เรื่องเหล็กตกคุณภาพที่ผลิต โดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ซึ่งโรงงานได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบข้อพิรุธหลายประเด็นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “ฝุ่นแดง” ซึ่งได้มีการขยายผลไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI และการสืบสวนร่วมกับดีเอสไอ โดยขอหมายศาลเข้าเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ส่วนอีกประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก คือ การทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก รวมทั้งเป็นเตาแบบระบบเปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็กที่มากกว่า ถึงแม้ในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพได้ แต่ในกระบวนการผลิตจริง การควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นทำได้ยาก ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจและเข้มงวดในการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี มีกระบวนการปรับปรุงควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ประเทศไทยออก มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.เหล็กข้ออ้อย มารับรอง IF ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ผลิตอย่าง SKY ได้รับ มอก.ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนับตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ได้ให้นโยบายชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ ระงับการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งอายัดเหล็กจากหลายบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดพบว่าเป็นเหล็ก IF รวมถึงทาง SKY ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็ก จากเตา IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก จะสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตา IF และเป็นเตาแบบระบบปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษน้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสมํ่าเสมอกว่า
สำหรับการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณายกเลิกเหล็กที่ผลิตแบบ IF ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป
"ผมได้ลงนามในหนังสือ ขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธาน กมอ. บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิก IF แล้ว และจนกว่าจะยกเลิก IF ก็คงจะต้องออกสำรวจตรวจจับ เสมือนแมวจับหนู สู้แก้ปัญหาแบบถอนราก จะได้ไปจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่นๆให้สิ้นซากต่อไป" นายเอกนัฎกล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี