นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าสถานการณ์ค้าปลีกไทยเต็มไปด้วยความท้าทายจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการบริโภคที่ชะลอตัว ภาคท่องเที่ยวเติบโตลดลง และภาคส่งออกที่กำลังเผชิญกับกำแพงภาษี ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยไม่เพียงแค่ ‘อยู่รอด’ แต่ต้อง ‘ยืนหยัด’ และ ‘ก้าวนำ’ ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ การตั้งรับ รุกกลับ และปรับตัวให้ทันอนาคต คือกุญแจสู่การฝ่าวิกฤติ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสม
ในปี 2567 ภาคค้าปลีกมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาทมีสัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มากกว่า 3.3 ล้านราย ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะ สินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ค้าปลีกยังคงเป็น เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ในการขับเคลื่อนภาคผลิต ภาคการบริโภค และภาคแรงงาน
ดังนั้นเทรนด์ค้าปลีก 2568 ต้องปรับตัวสู่ดิจิทัลและความยั่งยืน Convergence Commerce as the New Standard สร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างช่องทาง Offline และ Online รวมถึงการผสานร้านค้ารายใหญ่และรายย่อยให้เป็นระบบนิเวศ เดียวกัน เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้สมาคมฯจึงขอเสนอกลยุทธ์ 3S (Shield Strike Shape) "ตั้งรับ รุกกลับ ปรับตัว"
1. ตั้งรับ (Shield) ป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ภาครัฐจะต้องตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% แทนการสุ่มตรวจ พร้อมทั้งเร่งหามาตรการเชิงรุกในการจัดการธุรกิจนอมินีที่สวมสิทธิ์คนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ ครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ เพื่อยับยั้งการ รั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย ป้องกันการสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ (Re-Export) ส่งผลให้ไทยเกินดุลสหรัฐ
2. รุกกลับ (Strike) ค้าเสรีและเป็นธรรม โดยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม( VAT) 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก(จากเดิมไม่เกิน 1,500 บาทได้รับการยกเว้นภาษี) โดยออกเป็นกฏหมายบังคับใช้เป็นการถาวรปรับปรุงกฏหมายที่มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมของ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาถูกที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้บริโภค ออกมาตรการรับมือกับสถานการณ์สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทยเนื่องมาจากปัญหาการผลิตสินค้าเกินความต้องการในประเทศจีนซึ่งจีนจำเป็นต้องระบายสู่ต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ
พร้อมกันนี้เสนอให้มีการนำร่องมาตรการ Instant Tax Refund คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อสินค้า ขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไป ต่อ 1 วันในร้านค้าเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและดึงดูดนักท่องเที่ยว เขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Shopping Paradise Sandbox)โดยพิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ อาจเริ่มที่สินค้าอเมริกาก่อน นำร่องทำแซนด์บ็อกซ์เป็นเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็น Shopping Paradise ของภูมิภาค การลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์จากสหรัฐฯ เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าไทย–สหรัฐฯ
3. ปรับตัว (Shape) เช่นการลดทอนกฏระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน (Regulatory Guillotine)ผลักดันมาตรการ Regulatory Guillotine เพื่อลดกฎระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน การสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษี โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและพัฒนานวัตกรรม พร้อมผลักดันให้ได้รับการรับรอง ‘Made in Thailand’ จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและขยายโอกาสในการ
สมาคมฯมุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการค้าปลีกทุกระดับ พร้อมขับเคลื่อนอีโคซีสเต็มของค้าปลีกให้แข็งแกร่ง โดยเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี