นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 24,555 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.44% (23,926 ราย) โดยมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดมากที่สุด 89.10% (21,879 ราย) ห้างหุ้นส่วนสามัญ/ห้างหุ้นส่วนจำกัด 10.86% (2,667 ราย) และบริษัทมหาชนจำกัด 0.04% (9 ราย)จังหวัดที่มีการประกอบธุรกิจร้านอาหาร 5 อันดับแรกอยู่ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9,710 ราย (39.54%) ชลบุรี 2,693 ราย (10.97%) ภูเก็ต 1,936 ราย (7.88%) เชียงใหม่ 1,504 ราย (6.13%) และสุราษฎร์ธานี 1,411 ราย (5.75%) ตามลำดับ
โดยไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม) ปี 2568 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 973 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 339 ราย (34.84%) ชลบุรี 119 ราย (12.23%) เชียงใหม่ 77 ราย (7.91%) ภูเก็ต 62 ราย (6.37%) และสุราษฎร์ธานี 43 ราย (.4.42%)
ขณะที่รายได้รวมและผลประกอบการของธุรกิจ ปี 2565 รายได้รวม 244,577.43 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 65,180.30 ล้านบาท หรือ 36.33%) ผลประกอบการ กำไร 3,386.72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,050.56 ล้านบาท หรือ 135.05%) ปี 2566 รายได้รวม 314,054.92 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69,477.49 ล้านบาท หรือ 28.41%) ผลประกอบการ กำไร 9,559.01 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6,172.30 ล้านบาท หรือ 182.25%) สำหรับปี 2567 ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการส่งงบการเงินของนิติบุคคล
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจร้านอาหารไทยยังคงเติบโตได้ดี และมีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจร้านอาหารเป็นซอฟท์ พาวเวอร์ อันดับ 1 ของประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รับรู้และรู้จักไปทั่วโลก ยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่นิยมกับผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านความนิยมในการบริโภคอาหารไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยมีการปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคอาหารของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบเดลิเวอรี การสั่งอาหารล่วงหน้าแล้วมารับที่ร้าน หรือ บริการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการรอคิวและความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ พร้อมรับกระแสบริโภคนิยมที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาในการเดินทางไปร้านอาหาร
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยสามารถปรับตัว แสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้น และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ร้านอาหารเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จับมือหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหารไทย โดยเน้นส่งเสริมให้มีระบบการบริหารจัดการร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน สามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งถือว่าผ่านการคัดสรรและรับรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันซอฟท์ พาวเวอร์ด้านอาหารไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยว นำเสนอเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีของประเทศ สร้างกระแสนิยมอาหารไทย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น
1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพ ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus เพื่อให้ร้านอาหารมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร ทั้งการบริหารต้นทุน การเงิน ทรัพยากรบุคคล ด้านนวัตกรรม และการตลาด ให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับมาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จัดไปแล้ว 9 รุ่น ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมฯ แล้ว 1,177 ราย
2. ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพมาตรฐาน รสชาติอาหารไทยแท้ วัตถุดิบคุณภาพ บรรยากาศ และการบริการที่ดี ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญในการลงพื้นที่ตรวจประเมินและให้คำปรึกษาแนะนำ โดยปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT 496 ร้าน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยปี 2568 ตั้งเป้าเพิ่มร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT อีก 120 ร้าน ซึ่งขณะนี้ กำลังเปิดรับสมัครร้านอาหารไทยเข้ารับการตัดเลือกเพื่อได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยสามารถสมัครเข้ารับการประเมินเพื่อรับตราสัญลักษณ์ได้ตั้งแต่วันนี้ - 15 มิถุนายน 2568 ทาง www.dbd.go.th
3. กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร โดยกรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย และขยายโอกาสแก่ร้านอาหาร Thai SELECT ได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค กระตุ้นการจำหน่าย ผ่านการมอบโปรโมชันส่วนลด สิทธิประโยชน์ต่างๆ
4. ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่างๆ และแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีชั้นนำ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร โดยนำร้านอาหาร Thai SELECT มาจัดแสดง (Showcase) ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อแสดงศักยภาพของอาหารไทย สร้างตัวตนให้ร้านอาหารกลายเป็นที่รู้จัก และส่งต่อร้านอาหาร Thai SELECT ให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
5. เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาสัมผัสและลิ้มลองอาหารไทย
6. การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองกับร้านอาหาร Thai SELECT ในพื้นที่ โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง อาทิ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป
7. สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตอุปกรณ์ ผู้จำหน่วยวัตถุดิบ ผู้ให้บริการเครื่องมือและระบบบริหารจัดการร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้า และต่อยอดธุรกิจ
สนใจข้อมูลกิจกรรมที่กรมฯจัดให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถเข้าดูในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 5954 e-Mail : service@dbd.go.th และ Call Center 1570” อธิบดีอรมน กล่าว
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี