นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวลดลง จาก 93.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวและส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ในอัตรา 25% (เริ่ม 12 มีนาคม 2568) อาจส่งผลให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอตัวลง โดยในปี 2567 ไทยมีการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม คิดเป็น 18.16% และ 13.29% ของการส่งออกทั้งหมด
ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดหลักที่ลดลงโดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวจีน (-44.92% YoY) และมาเลเซีย (-16.57% YoY) ลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย และการเข้าสู่ช่วงถือศีลอด ด้านยอดส่งออกรถยนต์ลดลง จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยอดการส่งออกลดลง 8.34% (YoY) กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ รวมไปถึงกำลังซื้อในภูมิภาคยังคงเปราะบาง จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะข้าว อ้อยและมันสำปะหลังส่งผลต่อการใช้จ่ายในภูมิภาค
อย่างไรก็ดีในเดือนมีนาคม ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาทิ การผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) ส่งผลดีต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าพลังงานลง 50 สตางค์/ลิตร ในกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยมีการปรับลดราคาในสองช่วง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 และการจัดงานมอเตอร์โชว์ (26 มีนาคม - 6 เมษายน 2568) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศได้
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,357 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมีนาคม 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 57.3% เศรษฐกิจโลก 53.4% และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.6% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 31.9% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 30.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 18.3%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจาก 97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่อง มาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ เริ่มวันที่ 2 เมษายน 2568 กระทบอุตสาหกรรมการส่งออกยานยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทย อีกทั้ง มาตรการตอบโต้ทางภาษี (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 2 เมษายน 2568 ที่กระทบภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ (เริ่มรับคำขอตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการเที่ยวคนละครึ่งและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทเฟส 3 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
ม.ล.ปีกทอง กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.เสนอให้ภาครัฐบูรณาการความร่วมมือในการจัดทำแผนรับมือเหตุแผ่นดินไหวและมีระบบการตรวจสอบความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ลดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
2.เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพรองรับสินค้าไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าเช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น รวมทั้งเร่งเจราจาความร่วมมือ FTA Thai-EU เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออก 3.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve และ New S-Curve) เช่น มาตรการทางภาษี เงินอุดหนุนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ การ Upskill และ Reskill แรงงาน รวมทั้งการปรับลดค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
นายอภิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนการเจรจากับรัฐบาลไทย เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า จากเดิมที่มีกำหนดไว้วันที่ 23 เม.ย.นี้ออกไปก่อน มองว่าเป็นผลดีกับไทยเนื่องจากยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมได้มากขึ้น รวมทั้งอาจมองได้ว่าปัญหาของไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญของสหรัฐ
ขณะเดียวกันกระแสข่าวจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้นจะมีผลต่อการเจรจากับสหรัฐหรือไม่นั้น เบื้องต้นไม่น่ามีผลแต่อย่างไร โดยภาคการเมืองกับราชการที่มีหน้าที่เจรจาอยู่แล้ว จึงต้องแยกส่วนกัน ซึ่งการเมืองอาจจะกระทบบ้าง อย่างไรก็ตามมองว่าในปัจจุบันนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นทีมเจรจาที่แข็งและมีการเตรียมการไว้อย่างดีอยู่แล้ว
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี