กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรับแผนตรวจสอบ ‘นอมินี’ ปี 2568 เน้น 6 กลุ่มธุรกิจน่าสงสัยว่าอาจจะมีชาวต่างชาติใช้คนไทยเป็นนอมินีเข้ามาประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมาย 1) ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2) ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ 3) ธุรกิจ e-Commerce ขนส่ง และคลังสินค้า 4) ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท 5) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และ 6) ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป รวมเป้าตรวจสอบ 46,918 ราย โดยจะลุยลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานฯ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันได้จับมือ ปปง.เตรียมออกกฎหมายยึดทรัพย์บุคคลที่ช่วยเหลือ สนับสนุน และร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย เพื่อขจัดวงจรนอมินีทำลายชาติให้ได้ผลเห็นเป็นรูปธรรม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เป็นประจำทุกปีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะดำเนินการตรวจสอบนิติบุคคลที่เข้าข่ายใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี โดยจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ที่ให้ความสำคัญและได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว เนื่องจากกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้ง ได้แต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งในปี 2568 กรมฯ ได้ปรับแผนตรวจสอบนอมินี โดยจะเน้น 6 กลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่น่าสงสัยว่าต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยโดยให้คนไทยถือหุ้นแทน ซึ่งถือว่า ผิดกฎหมาย ได้แก่ 1) ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2) ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ 3) ธุรกิจ e-Commerce ขนส่ง และคลังสินค้า 4) ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท 5) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และ 6) ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป รวม 46,918 ราย โดยจะมีการลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะรายงานผลให้คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เป็นประธานทราบความคืบหน้าเป็นระยะ
สำหรับแผนการตรวจสอบนอมินีประจำปีนี้ ยังรวมถึงการตรวจสอบธุรกิจที่มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามายังกรมฯ และธุรกิจที่เป็นกระแสข่าวในปัจจุบันว่าพบกลุ่มคนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมายอาศัยนอมินีคนไทยด้วย เช่น * ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แถวพระราม 9 และ กรุงเทพกรีฑา ร้านอาหารย่านห้วยขวาง พระราม 9 และรัชดาภิเษก * การตรวจสอบกรณีการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้ การปรับแผนลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่ต้องสงสัยหรืออาจเข้าข่ายนอมินี จะสอดคล้องและควบคู่ไปกับการทำงานของคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยจะบูรณาการการทำงานเชิงรุกร่วมกัน และเร่งดำเนินงานตามกรอบการปฏิบัติงานที่ได้กำหนดไว้ มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) โดยเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วหากพบการกระทำผิดกฎหมาย หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมลงพื้นที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบหน้าที่และอำนาจที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษทางกฎหมายให้เห็นเป็นรูปธรรม ปกป้องผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจและประชาชนไทย ป้องปรามและปราบปรามธุรกิจต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจอย่างผิดกฎหมายในไทย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง
ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงาน ปปง. ได้ร่วมกันพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเพิ่มเติมให้คนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในธุรกิจที่อยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือคนต่างด้าวที่ยอมให้คนไทยกระทำการแทนดังกล่าว ตามมาตรา 36 (ความผิดฐานนอมินี) และกรณีที่คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 37 เป็นความผิดมูลฐาน ตามร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งจะนำไปสู่การยึด อายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างด้าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อไม่ให้นำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ หยุดยั้งการใช้บริษัทนอมินีและคนไทยเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของระบบธุรกิจในประเทศไทย และป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการกระทำความผิด ซึ่งขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (https://law.go.th) ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2568 เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องธุรกิจของคนไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับถัดไป” อธิบดีอรมน กล่าวว่า
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี