นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (988,362 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ 17.8 % หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 15.0 % การส่งออกของไทยได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการเร่งตัวด้านการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ การส่งออกของไทย 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัว 15.2 % หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 13.8 %
ทั้งนี้มูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.2 % เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 80,451.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.4 % ดุลการค้า เกินดุล 1,081.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 2,757,249 ล้านบาท ขยายตัว 10.5 % เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,754,544 ล้านบาท ขยายตัว 3.1 % ดุลการค้า เกินดุล 2,705 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เดือนมีนาคม หดตัว 3.1 % กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัว 0.5 % หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 5.7 % กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.2 % ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม ขยายตัว 23.5 % โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 19.4 %
ทั้งนี้การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว จากการเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการประกาศภาษีของสหรัฐฯ ที่จะมีผลเดือน เม.ย. โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากความต้องการนำเข้า เพื่อลดต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้า ขณะที่ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน เร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 34.3 % จีน 22.2 % ญี่ปุ่น 1.5 %สหภาพยุโรป (27) 4.0 % อาเซียน (5) 13.2 % และ CLMV 10.1 % เอเชียใต้ 9.2 % ตะวันออกกลาง 25.1 % แอฟริกา 3.5 % ลาตินอเมริกา 11.5 % รัสเซียและกลุ่ม CIS 59.5 % และสหราชอาณาจักร 7.7 %
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่าสินค้าสำคัญที่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนตลาดจีน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติก ตลาดสหภาพยุโรป (27) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตลาดอาเซียน (5) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตลาด CLMV สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และผ้าผืน
“แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน” นายพูนพงษ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี