สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(CAAT) พร้อมพันธมิตร เตรียมทดสอบการใช้ “โดรนขนส่ง” ในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิม นำร่องการใช้ในเขตเมือง และมีแผนปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(CAAT) เปิดเผยว่า CAAT เตรียมตัวเปิดทดสอบให้บริการขนส่งพัสดุโดยอากาศยานซึ่งไม่มีคนขับ (โดรนขนส่ง) โดยจะสามารถทดสอบได้ในเดือนมิถุนายน 2568 เร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ CAAT จะนำร่องเส้นทางนำร่องการผลักดันให้เกิดการใช้โดรนขนส่งในเขตเมือง ซึ่งการกำหนดเส้นทางจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการ และการยื่นขอใช้เส้นทางนั้นมาที่ CAAT
อย่างไรก็ตามขณะนี้ CAAT ได้หารือร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ,บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ,บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ,ศูนย์บริหารจัดการห้วงอากาศ (ประเทศไทย) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อวางแผนพื้นที่และวิธีการทดสอบการใช้โดรนขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร เช่น ในเขตพื้นที่ NT บางรัก และไอคอนสยาม พร้อมการทำคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มจัดทำร่าง พ.ร.บ.การใช้งานโดรน เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว โดยในอนาคต CAAT จะพิจารณาในการออกใบอนุญาตการใช้โดรนขนส่งนี้ให้กับภาคเอกชนที่มีความพร้อมต่อไป
ในขณะเดียวกัน CAAT ยังได้ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย โดยปรับปรุงและแก้ไขข้อจำกัดการอนุญาตโดรน ที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขับเคลื่อนและใช้งานโดรน ขนาดใหญ่อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงมีผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำโดรนหรือระบบที่เกี่ยวข้องหลากหลายประเภทมาทดสอบที่ UAV Regulatory Sandbox วังจันทร์วัลเลย์ เพิ่มมากขึ้น เช่น โดรนในทางวิศวกรรมเพื่อการสำรวจและการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดรนเกษตร โตรนกู้ภัย และโครนรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
พลอากาศเอก มนัท กล่าวถึงบทบาทของ CAAT ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการใช้โดรนอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพว่า CAAT มีระบบ UAS Portal (uasportal.caat.or.th) ที่ดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรน และจดทะเบียนโดรนผ่านระบบออนไลน์ที่รวดเร็ว มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจใช้งานโตรนอย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน CAAT ได้จับมือกับภาคส่วนต่างๆเพื่อจัดทำแผนแม่บท หรือ Drone Master Plan ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทยที่มีรายละเอียดทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย ความมั่นคง และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล ครบทุกมิติ
นอกจากนี้ในปี 2568 ทาง CAAT เริ่มทำการรับรอง “ศูนย์ฝึกอบรมและหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน” ที่จะช่วยผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมโดรน ให้มีความรู้ด้านการบิน กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบินโดรน และมีทักษะความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีโดรนอย่างปลอดภัย อีกทั้ง CAAT ยังมีแผนปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้ก้าวไปข้างหน้า
ทั้งนี้ CAAT คาดการณ์ว่าอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะมีโดรนหลากหลายประเภทไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านลำ ดังนั้นการกำกับดูแลการใช้โดรนจึงต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยง ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ความเสี่ยงต่ำ กลุ่มใช้เพื่อความบันเทิงทั่วไป เช่น โดรนถ่ายภาพและวิดีโอทางอากาศ 2.ความเสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจ เช่น โดรนเกษตร โดรนสำรวจและตรวจสอบ และ3.ความเสี่ยงสูง กลุ่มโดรนที่มีการขนส่งผู้โดยสาร หรือโครนขนสินค้าขนาดใหญ่ ดังนั้นจะมีหน่วยงานอื่นๆ และปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้โดรนเกษตรเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี