27 เม.ย. 2568 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประเมินเศรษฐกิจล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พบว่า ไทย สิงคโปร์ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรงสุดในอาเซียน โดยคาดการณ์ว่าไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 1.8% ในปีนี้ และ สิงคโปร์จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 2%
การคาดการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวทางคณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ DEIIT มองว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะปรากฏชัดตั้งแต่ปลายไตรมาสสองเป็นต้นไป กรณีของไทยอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคหรือภาวะเงินฝืดอ่อนๆ ได้หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังอย่างทันท่วงที
การที่ประเทศไทยและสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรงเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีระดับการเปิดประเทศสูง พึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์มีระดับการเปิดประเทศสูงสุดในอาเซียน จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าการค้าโลกสูง ส่วนประเทศไทยแม้จะมีตลาดภายในใหญ่กว่าหลายประเทศในอาเซียนแต่เนื่องจากมีโครงสร้างประชากรสูงวัย หนี้สินครัวเรือนสูง การปรับทิศทางมาพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดภายในมากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การกระตุ้นการบริโภคภายในมีขีดจำกัด
การจะทำให้ “ไทย” พ้นภาวะเติบโตต่ำสุดในอาเซียนนั้นต้องมีการปฏิรูปทุกมิติ ลงทุนยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มลงทุนนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ ระยะสั้นต้องผ่อนคลายทั้งการเงินการคลัง ผ่อนคลายกฎระเบียบ ชะลอการเลิกจ้างจากภาคส่งออก ลดความเหลื่อมล้ำ ปิดความเสี่ยง Social Unrest ปัญหาความขัดแย้ง การแยกขั้ว ความตึงเครียดทางสังคม จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ภาวะดังกล่าวจะทำให้ “มวลชน” ไม่พึงพอใจต่อภาวะความเหลื่อมล้ำสูงเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำ และ ผู้มีอำนาจต้องตอบสนองอย่างเหมาะสมและทันกาลเพื่อป้องกันให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
“สัญญาณการเลิกจ้างในภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ขอให้ติดตามข้อมูลการผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม มาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ผู้ผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จะส่งออกได้น้อยลงในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อเจอภาษีตอบโต้ ผู้ส่งออกจากหลายประเทศก็จะหันมาส่งออกแข่งกับไทยในตลาดเดียวกันมากขึ้น รวมถึงส่งออกมายังไทยมากขึ้นเมื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลงจากกำแพงภาษี” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวสูงถึง 11.7% ในช่วงปี พ.ศ. 2530-2533 และในช่วงทศววรษ 2530 ไทยเคยเติบโตทางเศรษฐกิจในบางปีสูงถึง 13.3% ต่อปี สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง การมียุทธศาสตร์และนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม และ มีความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิดล่าช้าและการฟื้นตัวเป็นรูป K-Shape อย่างชัดเจน
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายปีติดต่อกันและมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 3% และ ล่าสุดปีนี้อาจต่ำกว่า 2% สัดส่วนของการลงทุนเทียบกับจีดีพีอยู่ในระดับต่ำ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐหรือกิจการที่สัมปทานให้เอกชนดำเนินการก็มักจะมีการทุจริตรั่วไหลและเบี่ยงเบนไปจากหลักวิชาการ ผิดไปจากหลักการของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ดีและไม่เป็นไปตามหลักการลงทุนเพื่อสาธารณะ
เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ในทุกระดับ มีการผ่องถ่ายผลประโยชน์สาธารณะไปเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม นโยบายและมาตรการต่างๆมักมีผลประโยชน์ทับซ้อนทุจริตและมีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลประโยชน์ของเครือข่ายของกลุ่มผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเสมอ จึงไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดที่มีประสิทธิผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น ไม่มีประสิทธิภาพช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพหรือยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้น
ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีเสถียรภาพจากรัฐประหารสองครั้งและความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมืองเป็นระยะๆ การเติบโตต่ำจึงกลายเป็น “ภาวะปรกติ” ของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โอกาสที่ “ไทย” กลับมาสู่การเป็น “แถวหน้า” ของอาเซียนจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้เสียก่อน การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นจึงไม่สามารถอาศัยเพียงการปรับโครงสร้างและการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการปฏิรูปในทุกมิติอย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กฎหมายและระบบสถาบันต่างๆ
เพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับเดียวกับช่วงทศวรรษ 2530 ลงทุนในนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ สร้างฐานการเติบโตและรายได้ใหม่ ระยะสั้นต้องผ่อนคลายการเงินและกฎระเบียบเปิดกว้างให้มีการขับเคลื่อนการลงทุนด้านต่างๆอย่างเต็มที่ โดยขจัดอุปสรรคทางกฎระเบียบให้หมดไป แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันติดสินบนให้ลดลงอย่างจริงจัง
“แนวทางการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนกว่า และ ส่งผลในระยะปานกลางและระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดนโยบายและมาตรการประชานิยมเกินขนาดและนำมาสู่ปัญหาฐานะทางการคลังในอนาคต ก็คือ การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การบริหารจัดการทางด้านอุปทาน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องทำให้เกิด Breakthrough Competitiveness and Growth with country innovation ต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมต่อจีดีพีให้สูงขึ้น โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผลิตภาพของทุนและแรงงาน” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนอาจเกิดขึ้นจากการรอความชัดเจนของนโยบายตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ต้องติดตามข้อมูล Sentiment การลงทุน เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน การขอเลื่อนการใช้สิทธิพิเศษการลงทุน เป็นต้น ขณะที่การกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลังเพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลเศรษฐกิจ ต้องเน้นไปที่การลงทุน
มาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาวิกฤติหนี้สิน การใช้จ่ายเงินภาครัฐจากการกู้เงินจึงต้องให้ตรงเป้าหมาย เกิดผลตามนโยบาย มีประสิทธิภาพ และต้องตระหนักว่า ขณะนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่ระดับ 64.21% นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแล้ว หากก่อหนี้สาธารณะอีก 5 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นจึงไม่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นจนต้องขยับเพดาน
ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loans) อาจช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินของ SMEs ได้บ้าง ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของ SMEs ได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้มีการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อพลวัตอุปสงค์ตลาดโลก มาตรการ Soft Loans จึงต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ ปฏิรูประบบการให้สิทธิพิเศษการลงทุนต่างชาติ
การลงทุนต้องทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการผลิตของไทยและต้องมีมาตรการกำกับควบคุมไม่ให้มีการสวมสิทธิเพื่อการส่งออกโดยไม่ได้ทำการผลิตใดๆ ในไทย หรือใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบในไทยเพียงเล็กน้อย บางทีก็เป็นเพียงการทำ Transshipment ขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าประเทศหนึ่ง ไปยัง เรือสินค้าจากไทย และ มีติดฉลากว่า Made in Thailand
“สหรัฐฯตัดงบช่วยเหลือ USAID กระทบบริการสาธารณสุขและการช่วยเหลือมนุษยธรรมตามแนวชายแดนในไทย ระบบสาธารณสุขไทยตามแนวชายแดนจะรับภาระหนัก ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม การดูแลรักษาพยาบาลต้องสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด ไม่ใช่เพียงมิติทางด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการควบคุมโรคระบาดตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข สังคมและเศรษฐกิจโดยรวม” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในตอนท้าย
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี