SME ไทยต้องพร้อมแข่งขันในเวทีโลก!
ระเบียบโลกใหม่ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ระดับผู้นำประเทศที่ต้องคิด และหาวิธีเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ทั้งการค้า การลงทุน เพื่อให้ประเทศเล็กๆอย่างไทยอยู่รอดได้ และยังสามารถประคองความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ซึ่งต้องนับว่า “ไม่ง่าย” เพราะสุดท้ายอาจถูกดันไปสู่การเลือกข้างอย่างเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่างSME ต้องคำนึง คือ โลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ โลกาภิวัตน์อาจเป็นอดีต ธุรกิจ SME จะแข่งขันได้อย่างไร หากพิจารณาด้านบวกที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าหรือไม่หรือหากไทยจะเลือกกระจายความเสี่ยง ส่งออกไปหลายประเทศ แต่สินค้าและบริการของไทย จะมีศักยภาพเพียงพอจะส่งออกไปประเทศใหม่ๆ หรือไม่
ก็เป็นคำถามตามมาเช่นกัน
ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายของการสร้างผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก แม้ว่าจะมี SME และสตาร์ทอัพจำนวนมากแต่หลายรายยังติดอยู่กับ รูปแบบธุรกิจแบบเดิม สินค้าแบบเดิม และที่สำคัญคือ ขาดการใช้เทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน แล้วไทยจะไปอย่างไรต่อ เป็นโจทย์ที่ต้องคิด และวางแผนตั้งแต่วันนี้
ผมอยากจะชวนดูข้อมูลว่า ตัวเลขไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา 1.9 ล้านล้านบาท เกินดุล1.2 ล้านล้านบาท แต่หากลงลึกไปดูในรายละเอียดส่วนใหญ่สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาจะเป็นสินค้าภาคอุตสาหกรรมประมาณ 90% หรือประมาณ1.7 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากอเมริกาค่อนข้างมาก แต่เป็นภาคเกษตรแค่ 2 แสนล้านบาทหรือประมาณ 10% เท่านั้น หากเจาะลึกไปอีกว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เป็นกลุ่มไหนบ้างจะพบว่า เป็นฮาร์ดดิสก์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศเป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย และ ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง ที่มาลงทุนในประเทศไทย ส่วนสินค้าภาคการเกษตรที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ก็จะเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยางพารา เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
เมื่อเทียบกับหมวดอุตสาหกรรม นั่นหมายถึงในอดีตที่ผ่านมาเราเป็นประเทศที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่น (Original Equipment Manufacturer) หรือรับจ้างผลิต มีมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ประเทศจากแรงงาน ดังนั้น หากไทยต้องการปรับตำแหน่งการแข่งขันในระเบียบโลกใหม่ เราต้องเตรียมขุนศึกภาคธุรกิจ หรือ SME เข้าสู่โลกการแข่งขัน ที่ไม่ใช่รูปแบบของ OEM หรือรับจ้างประกอบเพื่อส่งออกอีกต่อไป แต่ต้องใช้จุดแข็งของไทยในการเป็นครัวของโลก สำหรับส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป ทำให้เป็นอุตสาหกรรมเกษตร และส่งออกไปทั่วโลก สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างแบรนด์ ซึ่งประเทศไทยพร้อมมากในการเป็นครัวของโลก
กรณีนี้หากดูสินค้าเกษตรจะพบว่า วัตถุดิบและต้นทุนส่วนใหญ่จะหมุนเวียนในประเทศ (Local Content) กว่า 75% ทำให้เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า ร้านค้ามีเงินหมุนเวียนในระบบ ต่างจากภาคอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบ และส่งออก โดยมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้หมุนเวียนในประเทศแค่ 20-30% เท่านั้น เมื่อทราบเช่นนี้ จะพบว่า นี่อาจจะเป็นโอกาสของสินค้าภาคการเกษตรอาหารของไทย เพราะห่วงโซ่คุณค่าภาคการเกษตรยาวมาก ตั้งแต่เกษตรกรเพาะปลูกทั้งพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ การต่อยอดมาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทุกชนิด และ มาถึงปศุสัตว์ โรงงาน แปรรูป เกิดเป็นอาหาร ทำให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศไม่ว่าภาวะสงคราม หรือภาวะใดๆ ประเทศไหนมีความมั่นคงทางอาหาร ย่อมปลอดภัย และคนในประเทศไม่อดอยาก ซึ่งประเทศไทยยังพร้อมที่จะส่งออกได้อีกด้วย หากมีการจัดการด้านเกษตรอย่างเป็นระบบ
การเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนกับต่างประเทศ เป็นหัวใจสำคัญ เช่น การปลูกข้าว หากประเทศไทย เจรจา กับเวียดนาม กับอินเดีย ได้ โจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ การจัดการด้านอุปสงค์ อุปทาน หากประเทศปลูกข้าว คุยกันรู้เรื่อง ราคาข้าวสูง เกษตรกรไทยก็ลืมตา อ้าปากได้ อาชีพเกษตรกรไม่ควรยากจน แต่สิ่งที่สำคัญต่อมาคือ การต่อยอดจากภาคการเกษตร สู่เกษตรอุตสาหกรรมที่ต้องเน้นเรื่องประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยี และ มีการบริหารจัดการ อีกตัวอย่างเช่น ยางพารา หากคุยกับพันธมิตรที่ปลูกยางได้ ก็สามารถบริหารจัดการมูลค่า และ กลไกตลาด ทำให้เกษตรมีรายได้สูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการจัดการเชิงนโยบาย เพื่อให้อุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่เพียงแค่นี้ไม่พอ สิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรกคือการจัดการพื้นฐานคือ การจัดการนำให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร และ การจัดการเรื่องสิทธิที่ทำกินของเกษตรกร ทำให้สามารถจัดการเรื่องประสิทธิภาพ และ เพิ่มคุณภาพของสินค้าเกษตร
การใช้เทคโนโลยี เป็นอีกส่วนที่สำคัญ ที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่า เรามีการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างน้อย เทียบกับประเทศอื่น เราเป็นประเทศใช้เทคโนโลยี “User” มากกว่า “ผู้คิดค้น” สำหรับเทคโนโลยีที่ไทยยังไม่มี ก็ควรเปิดตลาด ให้เจ้าของเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน เพราะยังไงไทยก็ไม่มี ผู้เชี่ยวชาญอยู่ดี แต่ต้องลดภาษี ลดอุปสรรค เชิญคนที่มีศักยภาพมาอยู่ คนที่มาแล้วต้องจ่ายภาษี เช่น ถ้าได้คนศักยภาพสูง และ รายได้สูง มาสัก 5 ล้านคน ปัจจุบันประเทศไทยมีคนจ่ายภาษีอยู่เพียง 4 ล้านกว่าคน หากได้คนมาจ่ายภาษีอีก 5 ล้านคน รัฐบาลมีเงินมาพัฒนาประเทศทีเดียวสองเท่า มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจยุคเดิม จะทำให้ SME ใหม่ๆ ของไทย ใช้เทคโนโลยีมาต่อยอด และสามารถแข่งขันได้ แต่เราต้องมีกฎระเบียบให้ผู้มาลงทุน ส่งเสริมให้ใช้ SME ในประเทศไทย ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย สร้างคนไทยเกิดการจ้างงานในประเทศไทย จ่ายภาษีในประเทศไทยซึ่งต้องวางแผนแบบรอบคอบ ไม่ให้มีการสวมสิทธิ์ของประเทศที่ 3 แต่เป็นการมาลงทุน โดยมีคนไทยได้ประโยชน์ นอกจากนี้ต้องมีการแก้เรื่องภาษี เรื่อง FTA ให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปในต่างประเทศ พร้อมสินค้าที่ต่อยอดจากภาคการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม ไปสู่ด้านอาหาร และ การสร้างแบรนด์ไทยไปในระดับภูมิภาค
โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไร ให้ SME ไทย พร้อมไปเปิดตลาดโลก ปัญหาหลักๆ มีอะไรบ้าง และเราจะผลักดัน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ให้เป็นโมเดลสำคัญของกลไกตลาด ส่ง SME ไทยสู่ตลาดไทยและตลาดโลกได้อย่างไร
1.การเลือกกลุ่มเป้าหมายผิด ไม่เข้าใจความต้องการลูกค้า
SME ไทยจำนวนมากพยายามผลิตสินค้าโดยที่ไม่ได้เข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ทำให้สินค้าขายไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตรแปรรูปหลายชนิดที่ถูกออกแบบให้เหมาะกับตลาดไทย แต่เมื่อนำไปขายในต่างประเทศกลับไม่ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภค และมาตรฐานความปลอดภัยของต่างประเทศ อาทิ บางประเทศให้ความสำคัญห่อหุ้ม (Packaging) ที่สะดวกพกพาขณะที่เราบรรจุสินค้าในบรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิม
2.ขาดความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์
นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ SME ไทยจำนวนมาก “ทำของเก่งแต่ขายไม่เป็น” การนำเสนอคุณค่าของสินค้า และแบรนด์ (Value & Brand Proposition) ที่ควรตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Uniquely Perceived Brand Love” หรือ ความรู้สึก “รัก และไว้ใจ” จากการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ในแบบเฉพาะตัว และการขาดการพัฒนา “เรื่องเล่าของแบรนด์” หรือ Storytelling
อีกประการคือ ความเชี่ยวชาญด้านช่องการจำหน่ายในแต่ละตลาด อาทิ สินค้าเกษตรไทยต้องการเข้าจีน แต่ไม่รู้ว่าต้องทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Tmall หรือ WeChat หรือ สินค้าเกษตรไทยต้องการเข้าตลาดยุโรป แต่ไม่รู้ว่าต้องขอใบรับรองมาตรฐาน (EU Organic, Halal, GMP ฯลฯ)
3.ขาดแคลนเงินทุน
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ SME ไทย มักขาดแหล่งเงินทุนที่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องการขยายกำลังการผลิตหรือต้องลงทุนในมาตรฐานสินค้าสำหรับตลาดสากล ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสำคัญคือ ระบบ Matching Fund หรือเงินร่วมลงทุนในไทยยังไม่เกิดขึ้นมากพอ เงินทุนจากภาครัฐมักมีข้อจำกัดและปล่อยออกมาไม่เร็วพอ นักลงทุนไทยยังขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจ SME และสตาร์ทอัพ และที่สำคัญยังขาดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่จะพัฒนาพวกเขาไปสู่ตลาดได้
3 ความท้าทาย และปัญหาเหล่านี้ ทำให้ “พี่เลี้ยง” เป็นสิ่งจำเป็นที่ SME ไทยต้องการ ไม่ว่าจะในรูปแบบ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ของเครือซีพี ตามที่ผมจั่วหัวไปตามตัวอย่างข้างต้น หรือจะรูปแบบ “Venture Builder หรือโครงการช่วยเหลือ SME” เป็นต้น
เท่าที่ทราบปัจจุบันมีความช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าวหลายโครงการ หนึ่งในนั้น โครงการ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” โดยแม็คโคร และโลตัส ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรและ SME ไทยอย่างรอบด้าน ผ่านกลไกค้าปลีก-ค้าส่ง และระบบสนับสนุนที่ครบวงจร โดยสามารถสรุปได้เป็น 5 ด้านหลัก
1.ด้านการตลาด (Market Access)
เปิดพื้นที่วางจำหน่าย ให้โอกาสเกษตรกรและ SME นำสินค้าเข้าสู่ร้านค้าปลีก-ค้าส่งในระดับประเทศ ทั้งใน แม็คโคร โลตัส และโลตัสโกเฟรช โดยมีการ จัดโซนสินค้าเฉพาะ เช่น โซน “เกษตรกรไทย”หรือ “สินค้า SME ไทย” เพื่อสร้างจุดเด่นและเรื่องราวให้ผู้บริโภคเข้าถึง นอกจากนี้ช่วย SME เข้าถึงลูกค้า B2B และ B2C แม็คโครเป็นช่องทางค้าส่งที่เจาะกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และร้านโชห่วย ส่วนโลตัสเป็นค้าปลีกที่เข้าถึงผู้บริโภคทั่วไป
2.ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ (Capacity Building)
การพัฒนาองค์ความรู้ ผ่านการจัดอบรมและเวิร์กช็อปผ่านทีมงาน CP Seeding ในหัวข้อ เช่นการพัฒนาคุณภาพสินค้ามาตรฐาน GMP, อย.,GAP การสร้างแบรนด์ การตั้งราคาขาย และให้คำปรึกษาเป็นรายราย เช่น การปรับบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับตลาดค้าปลีก หรือการวางกลยุทธ์การขยายช่องทางจำหน่าย โดยพี่เลี้ยงธุรกิจ สร้างเครือข่าย mentor จากผู้เชี่ยวชาญในเครือฯ และพันธมิตรให้คำแนะนำเฉพาะทาง เป็นต้น
3.ยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย(Product Quality & Compliance)
ช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิต : ให้ได้ตามมาตรฐานที่สามารถเข้าค้าปลีกสมัยใหม่ได้ เช่น ตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) โดยปัจจุบันร่วมมือกับภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยกระดับ SME และเกษตรกรอย่างเป็นระบบ
4.ด้านการเงินและโลจิสติกส์ (Supportive Infrastructure)
สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ เพื่อช่วยเชื่อมระบบการจัดส่ง การรวบรวมสินค้า และการกระจายสินค้าถึงสาขาต่างๆ มีเงื่อนไขการชำระเงินที่เป็นธรรมโดยให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียน ไม่ต้องแบกรับต้นทุนมาก
5.การสื่อสารและสร้างแบรนด์ (Marketing & Brand Storytelling)
ช่วยโปรโมทผ่านช่องทางของโลตัส และแม็คโครผ่านสังคมออนไลน์ หรือ In-store Promotionเพื่อให้พร้อมจำหน่ายในต่างประเทศ
หากคิดให้ไกลกว่านั้น ลำพังการเป็น“พี่เลี้ยง” หรือ “Mentor” อาจไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ SME ไทยก้าวสู่ตลาดโลก ผมคิดว่า ยังมี1-2 สิ่งที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อ SMEในปัจจุบัน อาทิ การสร้าง “Deal Flow” หรือ กระแสของโอกาสในการลงทุน ที่เราต้องสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้เข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่อง ดึง “คนเก่ง”และ “เทคโนโลยี” และให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยี แล้วนำพวกเขาเข้าเชื่อมต่อกับ SME เพื่อช่วยขยับขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น
วันนี้ผมจึงบอกได้ว่า SME หลายกลุ่มได้ก้าวสู่ความสำเร็จแล้วในหลายระดับ ทว่า เวทีสู่ความสำเร็จนี้ต้องมี “พี่เลี้ยง” มี “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่ไม่เพียงช่วยให้ SME ไทยรอด แต่สามารถเติบโต และแข่งขันได้ในระดับโลก
ท้ายที่สุด และเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะละเลยเสียมิได้ นั่น คือ SME เองก็ต้อง “ก้าวให้ใหญ่” ด้วยการ “คิดให้ใหญ่”
เป็นไปได้ไหมว่า เราอาจเลิกมองแค่ตลาดไทย และมุ่งสร้างสินค้าด้วยแรงบันดาลใจสู่ตลาดภูมิภาค และระดับโลก
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์
บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี