ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนในปี 2568-2569 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,116 และ 1,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดในปี 2554 ราว 70% เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มชะลอตัว และความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งไทยลดลง
นอกจากนี้ กรณีสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐาน 10% ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 และอาจถูกปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้เป็น 36% ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2568 คาดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นรวม 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 พันล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้ากุ้งจากสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้ หากภาครัฐของไทยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน คาดว่าจะทำให้ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยของธุรกิจกุ้งไทยเพิ่มขึ้นราว 5% ซึ่งกดดันให้กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการลดลงราว 3%
Krungthai COMPASS แนะนำการยกระดับอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืนควรใช้แนวคิด S-H-R-I-M-P ได้แก่ S-Sustainability ผลิตสินค้ากุ้งที่ยั่งยืน H-High quality ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้ได้ตามมาตรฐานสากล R-Research and development วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง I-Innovation ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย M-Market distribution ขยายการส่งออกกุ้งไปตลาดศักยภาพ และ P-Partnership ส่งเสริมความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem
คุณสุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในอดีต ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งมากถึง 3.9 แสนตัน ด้วยมูลค่าการส่งออกราว 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 19% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งทั้งหมดของโลก อย่างไรก็ดี ในปี 2556 ไทยเผชิญกับการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดลงกว่า 50% และทำให้ปริมาณการส่งออกกุ้งไทยลดลง
ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรคระบาดในกุ้งได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งลดลงมาอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก รองจากเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ด้วยปริมาณการส่งออก 1.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับปี 2554 ทำให้สินค้ากุ้งของไทยเหลือส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียง 5% เท่านั้น
นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้ากุ้งของไทย โดยเฉพาะมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการส่งออกของผู้ประกอบการไทยสูงขึ้น เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้ากุ้งไปตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งทั้งหมดของไทย รวมทั้งยังมีแรงกดดันจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของธุรกิจ เนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งมีการใช้แรงงานจำนวนมาก
บทความนี้จึงอยากชวนมาวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการส่งออกสินค้ากุ้งของไทย รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐจะกระทบต่อต้นทุนและอัตรากำไรของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปของไทยมากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งแนะนำแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับความเสี่ยง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งของไทยในตลาดโลก
สถานการณ์การส่งออกกุ้งไทยในปี 2567 และปี 2568-2569 เป็นอย่างไร
ในปี 2567 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนในปี 2568-2569 กรณีสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 1,116 และ 1,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลง -9.4%YoY และ -3.9%YoY ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดในปี 2554 ราว 70% โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และจีน อาจส่งผลให้กำลังซื้อและความต้องการนำเข้าสินค้ากุ้งมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกุ้งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ทั่วไป ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันต่อการส่งออกสินค้ากุ้งไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25%
ตลาดส่งออกใดที่กุ้งไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด
ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปในสหรัฐฯ และจีนมากที่สุด สะท้อนจากส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในสหรัฐฯ และจีนลดลงจาก 25% และ 18% ตามลำดับ ในปี 2554 เหลือเพียง 2% และ 5% ตามลำดับ ในปี 2567 โดยไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งให้แก่คู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลกและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยาก
ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดกุ้งแปรรูปของไทยในสหรัฐฯ และจีนลดลงจาก 60% และ 82% ตามลำดับ ในปี 2554 เหลือเพียง 13% และ 38% ตามลำดับ ในปี 2567 โดยไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งแปรรูปให้แก่คู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและต้นทุนการขนส่งไปจีนที่ต่ำกว่าไทย
3 ปัจจัยกดดัน ความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งของไทยในตลาดโลกเผชิญกับปัจจัยกดดันที่สำคัญ ดังนี้
1. ปัญหาโรคระบาดในกุ้งที่ยืดเยื้อ ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งไทยเพื่อส่งออกลดลง
ปัจจุบัน ไทยยังคงประสบกับปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมของไทยอยู่ที่ราว 3.5 แสนตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2555 ที่ราว 5.9 แสนตันต่อปี อยู่ถึง 40% เนื่องจากปัญหาโรคระบาดในกุ้งที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด เช่น โรคกุ้งตายด่วน (EMS) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) และโรคขี้ขาว (EHP) เป็นต้น รวมทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้อัตราการรอดของกุ้งต่ำ ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงกุ้งที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งต้นทุนค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่ง ทำให้เกษตรกรบางส่วนลดจำนวนบ่อเลี้ยงหรือชะลอการปล่อยกุ้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งเพื่อส่งออกของไทยลดลง
ซึ่งนอกจากปัจจัยกดดันด้านปริมาณผลผลิตกุ้งไทยที่ลดลงแล้ว ยังมีปัจจัยกดดันจากความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลกที่ลดลง เห็นได้จากสัดส่วนปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยต่อปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่มีผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นก็ตาม สะท้อนถึงอุปสงค์ของสินค้ากุ้งไทยในตลาดโลกที่ลดลง
2. ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง ท่ามกลางการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง
ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนแรงงานของไทยที่สูง โดยปัจจุบันค่าจ้างแรงงานของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 355 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานของอินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซียเฉลี่ยอยู่ที่ราว 200, 250 และ 279 บาทต่อวัน ตามลำดับ อีกทั้งไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบปลาป่นสำหรับการผลิตอาหารกุ้ง โดยการนำเข้าปลาป่นที่มีโปรตีนสูงกว่า 60% มีอัตราภาษีนำเข้าที่ 15% ทำให้ต้นทุนค่าอาหารกุ้งของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สามารถผลิตวัตถุดิบภายในประเทศ
นอกจากนี้ ธุรกิจกุ้งของไทยยังเผชิญต้นทุนแฝงที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการและป้องกันโรคระบาดในกุ้ง รวมถึงต้นทุนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตกุ้งที่ต่ำ
โดยในปี 2563-2567 ราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือราว 3.4 แสนบาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และอินเดียถึง 1.4-1.7 เท่า โดยราคาส่งออกกุ้งแช่แข็งของเอกวาดอร์และอินเดียอยู่ที่ราว 6,000 และ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ เนื่องจากเอกวาดอร์และอินเดียมีความได้เปรียบด้านพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งมากถึง 1.38 และ 1.25 ล้านไร่ ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งของไทยถึง 5-6 เท่า ประกอบกับต้นทุนแรงงานและต้นทุนค่าอาหารกุ้งที่ต่ำกว่าไทย ทำให้ราคากุ้งไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้นำเข้ามีแนวโน้มที่จะหันไปนำเข้ากุ้งจากประเทศคู่แข่งแทนการนำเข้ากุ้งจากไทย
3. ไทยเสียเปรียบด้านสิทธิประโยชน์การค้า
ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2562 ตามลำดับ โดยตลาดสหรัฐฯ กุ้งแปรรูปของไทยจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) สูงสุดอยู่ที่ 5% ส่วนกุ้งน้ำอุ่นแช่แข็งจากไทยยังคงถูกสหรัฐฯ เก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty: AD) ในอัตรา 0.57-5.34% ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และอินโดนีเซียยังได้รับสิทธิ GSP ในการส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีหรือเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่ากุ้งจากไทย ซึ่งแม้ว่ากุ้งน้ำอุ่นแช่แข็งจากเอกวาดอร์ถูกสหรัฐฯ เก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ในอัตรา 3.78% แต่เอกวาดอร์สามารถชดเชยต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นด้วยราคากุ้งที่ต่ำ
ส่วนตลาดญี่ปุ่น ไทยและประเทศคู่แข่งส่วนใหญ่ได้รับยกเว้นภาษีจากข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) แต่ราคาส่งออกกุ้งของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยเสียเปรียบและสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งในญี่ปุ่น
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปของไทย
1. ความเสี่ยงจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2568 สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐานกับสินค้านำเข้าทั้งหมดในอัตรา 10% และอาจปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับสินค้านำเข้าจากไทยเป็น 36% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน ในวันที่ 9 เม.ย. 2568 ทั้งนี้ หากการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ ไม่บรรลุผล อาจทำให้ไทยถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้สูงถึง 36% ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์ที่ถูกเก็บภาษีพื้นฐาน 10% และอินเดียอาจถูกปรับขึ้นภาษีพื้นฐานและภาษีศุลกากรตอบโต้เป็น 26% อาจเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งของไทย
โดยสินค้ากุ้งของไทยมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบในระดับสูงทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้ากุ้งไปยังสหรัฐฯ และจีนสูงถึง 25% และ 21% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งไปยังตลาดโลก ตามลำดับ ซึ่งหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับสินค้ากุ้งของไทยสูงถึง 36% อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีอำนาจในการต่อรองที่ต่ำจากต้นทุนการผลิตและราคาส่งออกกุ้งของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง รวมทั้งการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้สูงถึง 145%
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้ากุ้งของไทย แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1) กรณีสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐานกับสินค้านำเข้าจากไทยในอัตรา 10% ในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 จากอัตราภาษีเดิม คาดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยไปสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นราว 1.3 และ 1.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยหากกำหนดให้ปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในปี 2565-2567 จะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปไปสหรัฐฯ ในปี 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นรวม 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 762 ล้านบาท
2) กรณีสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐานกับสินค้านำเข้าจากไทยในอัตรา 10% ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 และปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับสินค้านำเข้าจากไทยเป็น 36% ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2568 คาดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยไปสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นราว 1.3 และ 1.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ และในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นราว 3.3 และ 2.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยหากกำหนดให้ปริมาณการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2568 อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในปี 2565-2567 จะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปไปสหรัฐฯ ในปี 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นรวม 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี การรับภาระต้นทุนภาษีที่อาจเกิดขึ้นนี้ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงสินค้ากุ้ง เพื่อลดแรงกดดันจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยของสหรัฐฯ เนื่องจากในปี 2567 ไทยมียอดเกินดุลการค้าสินค้ากุ้งกับสหรัฐฯ 311 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยอดเกินดุลการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ของสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.2 พันล้านบาท อีกทั้งไทยมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้ากุ้งจากสหรัฐฯ เพียง 0.5% ของการส่งออกสินค้ากุ้งของสหรัฐฯ ไปยังตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างของอัตราภาษีนำเข้าสินค้ากุ้งระหว่างไทยและสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงราว 17-20% ทำให้ไทยอาจถูกมองว่ามีความได้เปรียบด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรม และอาจนำไปสู่การกดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งรวมถึงสินค้ากุ้งจากสหรัฐฯ มากขึ้น อาจกระทบต่อความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
2. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐกระทบต้นทุนและอัตรากำไรของผู้ประกอบการ
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ในปี 2568 จะทำให้ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นราว 1-2% โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศจากเดิมอยู่ที่ 345 บาทต่อวัน เป็น 355 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.9% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและอัตรากำไรของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากธุรกิจการผลิตมีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 37% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ในปี 2568 จะทำให้ธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1-2%
นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในระยะข้างหน้า หากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน จะทำให้ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันราว 5% ซึ่งอาจทำให้กำไรขั้นต้นของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปลดลงราว 3% เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 12.7% จากอัตราปัจจุบัน จะทำให้ธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปที่มีสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนมากถึง 37% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 5% ซึ่งธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปมีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานอยู่ที่ราว 8.1% ของต้นทุนรวม ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน จะทำให้ต้นทุนรวมของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นราว 0.4% และอาจทำให้กำไรขั้นต้นลดลงราว 3% ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ราคาขายและต้นทุนอื่นคงที่ ซึ่งจะกดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปของไทยที่มีค่าเฉลี่ยในปี 2564-2566 อยู่ที่ราว 11.7%
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกุ้งไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรปรับตัวอย่างไรท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
Sustainability-มุ่งเน้นการผลิตสินค้ากุ้งจากแหล่งประมงที่ยั่งยืนและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผู้ประกอบการในธุรกิจกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปของไทยควรให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบกุ้งจากแหล่งประมงที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสวัสดิภาพแรงงานที่เป็นธรรม รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจพัฒนาแนวทางการจัดการโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) และโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Farm) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตทั้งในฟาร์มกุ้งและโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมุ่งเน้นการผลิตสินค้ากุ้งที่ยั่งยืนจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า รวมทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เนื่องจากช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต อีกทั้งยัง
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council: MSC) (2020) ชี้ว่า 56% ของผู้บริโภคอาหารทะเลทั่วโลกมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับอาหารทะเลที่มาจากการประมงที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับผลสำรวจของ GlobeScan (2022) ชี้ว่า 68% 75% และ 70% ของชาวสหรัฐฯ ชาวยุโรปและชาวเอเชียแปซิฟิกต้องการบริโภคอาหารทะเลจากแหล่งที่มีความยั่งยืน ตามลำดับ
High quality-ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กุ้งตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะเลี้ยงกุ้งควรมีการจัดการฟาร์มตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) รวมทั้งควบคุมการใช้สารต้องห้ามในการเพาะเลี้ยงกุ้ง เช่น ยาปฏิชีวนะหรือสารเร่งการเจริญเติบโต ควบคู่ไปกับการตรวจสอบสุขภาพกุ้งอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนการแปรรูปและการส่งออกกุ้ง ผู้ประกอบการควรยกระดับมาตรฐานการผลิตและแปรรูปตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน ISO, มาตรฐาน Aquaculture Stewardship Council (ASC) ของสหภาพยุโรป สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมาตรฐาน Best Aquaculture Practices (BAP) หรือมาตรฐานความยั่งยืนและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปสหรัฐฯ เป็นต้น รวมทั้งควรมีระบบตรวจสอบสารตกค้าง เช่น โลหะหนัก ยาปฏิชีวนะ และเชื้อก่อโรคตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
Research and development-วิจัยและพัฒนาพันธุ์กุ้งที่ทนต่อโรค รวมทั้งต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กุ้งปรุงรสพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) กุ้งแปรรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) และกุ้งโปรตีนสูงเพื่อสุขภาพ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มกุ้งแปรรูปเพียง 10% ของตลาดโลก และยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจนำผลพลอยได้ (By-Products) มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การนำเปลือกกุ้งมาสกัดเป็นสารไคตินบริสุทธิ์ สำหรับนำไปผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูก รวมทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกมากขึ้น
Innovation-ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อทดแทนแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยผู้ประกอบการอาจประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) เพื่อติดตามสุขภาพของกุ้งและลดความเสี่ยงจากโรค รวมทั้งอาจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ (Robotics and Automation) ร่วมกับระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เช่น เครื่องคัดแยกและปอกเปลือกกุ้งอัตโนมัติ หุ่นยนต์แขนกลสำหรับจัดเรียงและบรรจุสินค้า เป็นต้น หรือนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพกุ้งหรือการปนเปื้อนของกุ้งได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบได้มากถึง 20%
อีกทั้งผู้ประกอบการยังอาจประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ผ่าน QR Code บนบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กุ้ง
Market distribution-ขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเน้นการส่งออกกุ้งแปรรูปซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไปยังตลาดที่มีความต้องการบริโภคกุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันรุนแรง
โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ตลาดศักยภาพที่ไทยสามารถขยายการส่งออกกุ้งแปรรูป ได้แก่ ตลาดจีนและไต้หวัน เนื่องจากกุ้งแปรรูปของไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 38% และ 24% ตามลำดับ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกในช่วงปี 2564-2567 อยู่ที่ 9% และ 20% ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต แม้ว่ากุ้งแปรรูปของไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกในช่วงปี 2564-2567 อยู่ที่ 12%, 15% และ 12% ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้งผู้บริโภคมีศักยภาพในการใช้จ่ายที่สูง สะท้อนจากรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ในระดับสูงมากกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
Partnership-ส่งเสริมความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ ภาครัฐ สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา จะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ากุ้งไทย รวมทั้งยังช่วยให้การบริหารจัดการวัตถุดิบกุ้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ
โดยภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่น ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดในกุ้งอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนเงินทุนในการจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งและโรงงานแปรรูปกุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อลดอุปสรรคด้านภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี