nn เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน 2 คณะกรรมการสำคัญ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)...ได้หารือกันถึงภาพรวมของระบบสถาบันการเงินของไทย...ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมแล้วจะยังมีเสถียรภาพ เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวดีขึ้น ธนาคารพาณิชย์(ธพ.) และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง....แต่อย่างไรก็ตามยังมีสัญญาณบางอย่างที่ไม่ควรมองข้าม...
สัญญาณที่ว่านี้อยู่ตรงที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์....โดย ธปท.ใช้คำว่า “ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการสะสมความเปราะบางมากขึ้นใน
ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย”....โดยธปท.อธิบายว่า...ความเปราะบางที่ว่านี้ สะท้อนจาก...สัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของธนาคารพณิชย์(ธพ.) ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (loanto-value LTV) เกินร้อยละ 90 เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนสินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (loan-to-income : LTI) โน้มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ที่ยังปรับเพิ่มขึ้น....
แม้ฐานะการเงินโดยรวมของ ธพ. จะมีความเข้มแข็ง แต่ ธพ. ควรระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในลักษณะดังกล่าว ซึ่งทำให้ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สูงและอาจกระทบกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ขณะเดียวกันยังต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะอุปทาน คงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยอาคารชุดบางทำเลและบางระดับราคายังระบายออกได้ช้า....ในขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้เพื่อขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานเร่งตัวขึ้นในอนาคต ....
ที่ประชุมของ กนง.และสนส.จึงเห็นควรให้ติดตามและประเมินภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเลรวมถึงอุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกที่อาจจะเร่งตัวขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม(mixed-use) ในอนาคต
นอกจากนี้พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์สะท้อนจากเงินรับฝากและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งมีการพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น เมื่อภาวะการเงินตึงตัวและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุน ต้นทุนทางการเงิน มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์และสภาพคล่องโดยรวมในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ได้....ที่ประชุมจึงเห็นว่าการเร่งยกระดับการกำกับดูแลและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเฉพาะรายที่มีขนาดใหญ่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับปรัชญาของสหกรณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวม และพร้อมรองรับภาวะการเงินที่อาจตึงตัวขึ้นในระยะข้างหน้า
สำหรับพฤติกรรม search for yield ในภาคส่วนอื่นยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล การลงทุนในกองทุนรวมยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยพบว่าผู้ลงทุนหันมาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้มากขึ้น ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIFs) ชะลอตัวลงจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การออกตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำชะลอลงหลังจากเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมา
เศรษฐศาสตร์วันหยุด...ไม่ใช่พวกมองโลกในแง่ร้าย และไม่ต้องการกระตุ้นให้เกิดกระแสการวิตกกังวลจนเกินเหตุ...แต่
2 สัญญาณเตือนนี้จากธปท.ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน....
พงษ์พันธุ์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี