nn หลายฝ่ายปรับประมาณการการส่งออกในปีนี้ว่าอาจจะติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ระดับ 7% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 8-10% เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของไทยนั้นปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจีน และหลายประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ตามอีกตลาดสำคัญของไทยคือ กลุ่มประเทศ (CLMV) กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ก็ต้องใส่ใจและติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกันว่า ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มนี้นั้นฟื้นตัวได้ดีขนาดไหน มีกำลังซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นหรือยัง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2020 แม้กัมพูชา และ สปป.ลาวสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนาม กลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนาม กลับมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง
ด้านอุปสงค์ (ความต้องการสินค้า) จากต่างประเทศสำหรับกลุ่ม CLMV ยกเว้นเวียดนามจะยังคงอ่อนแรงจากภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซาและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชา (14% ของ GDP) และเวียดนาม (6.9% ของ GDP) คาดว่าจะยังซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ จากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ขณะเดียวกันกัมพูชาได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้แล้ว แต่ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกักตัว และการตรวจเชื้อจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซา
ด้านการส่งออกของกลุ่มประเทศ CLMV จะยังคงฟื้นตัวได้ต่ำสำหรับกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์โลกต่อสินค้าส่งออกหลัก (เครื่องนุ่งห่ม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าวัตถุดิบ) นอกจากนั้นการส่งออกเมียนมาได้รับผลลบเช่นกันจากการปิดโรงงานและมาตรการจำกัดการขนส่งอย่างเข้มงวดที่พรมแดนกับไทยและจีน ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของCOVID-19 ในขณะที่การส่งออกของเวียดนามยังคงเติบโตนำหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ด้วยแรงหนุนจากอุปสงค์โลกต่อสินค้ายุค “New Normal” เช่นคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาค CLMV ยังคงชะลอตัวจากความไม่แน่นอนในด้านการลงทุน และการที่บริษัทข้ามชาติบางรายตัดสินใจเลื่อนแผนการผลิตออกไป
สำหรับภาคเศรษฐกิจภายในประเทศการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวช้าจะยังเผชิญแรงกดดันจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดโรงงานและธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจากมาตรการ lockdown และการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า ตัวเลข Google Mobility Index บ่งชี้ว่าการเคลื่อนไหวของประชากร CLMV ที่ร้านค้าปลีกและนันทนาการ สถานที่ทำงาน และสถานีขนส่งได้กลับมาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายนแต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับฐานในช่วงก่อนCOVID-19 ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้าและเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ประเมินว่าภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMV จะขยายมาตรการกระตุ้นออกไปอีกจนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ปัจจุบัน กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ยังมีขีดความสามารถในการทำนโยบายการคลังที่เพียงพอสำหรับมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ส่วน สปป.ลาวยังเผชิญความเสี่ยงด้านขีดความสามารถในการทำนโยบายการคลัง (fiscal space) ที่จำกัด เพราะระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวคาดว่า จะอยู่สูงถึง 71% ของ GDP นอกจากนั้น ต้นทุนการกู้ยืมของสปป.ลาวเพิ่มสูงขึ้นจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
ผลกระทบจากเศรษฐกิจ CLMV ที่ชะลอตัวลงต่อประเทศไทยด้านการค้าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ โดย TDI (การลงทุนจากไทย) ไปกลุ่ม CLMV โดยรวมหดตัวอย่างมีนัยในไตรมาสที่ 2/2020 และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV และความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูงการส่งออกจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2/2020 (ที่หดตัว -24.5%YOY) โดยในไตรมาสที่ 3/2020 มูลค่าส่งออกหดตัวลดลงเหลือ -7.9% YOY โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนกันยายนหดตัวลดลงเหลือ -3.2 % YOY การฟื้นตัวด้านการส่งออกเป็นอย่างทั่วถึงนำโดยการส่งไปยังเวียดนาม (ที่ฟื้นตัวจาก -19.4%YOY ในไตรมาสที่สองมายัง -4.5%YOY ในไตรมาสที่สาม) ในกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นหลัก (หดตัวเหลือเพียง -10.8%YOY จาก-77.9%YOY ในไตรมาสสอง)
สำหรับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาลาว และเมียนมา หดตัวน้อยลงทั้ง 3 ประเทศตามมูลค่าการค้าโดยรวมของไทยแม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดต่างๆ ในด่านตรวจสินค้าชายแดนของไทย (มูลค่าส่งออกของไทยผ่านการค้าชายแดนหดตัวลดลงเหลือ-3.6%YOY ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับ -25.0% ในเดือนเมษายน) โดยจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ที่เป็นไปอย่างช้าๆและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างประเทศและแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยไป CLMV จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
กระบองเพชร
ข้อมูลจาก ธ.ไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี