nn ประเด็นราคาสินค้ากลุ่มเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นตอนนี้...ขยายผลไปถึงสินค้าหลากหลายชนิดที่ต้องปรับราคาสูงขึ้นตามเพราะต้นทุนจากเหล็กสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหานี้ โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศนั้น เจอกับความยากลำบากมาหลายปีต่อเนื่องก่อนหน้านี้จากที่ราคาเหล็กตกต่ำ ความต้องการใช้ลดลงอย่างหนัก รวมทั้งการถูกสินค้านำเข้า(จากจีน)ทุ่มตลาด การที่ราคาเหล็กในประเทศขยับตัวขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กจะได้รับอานิสงส์สักเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเลย เพราะราคาเหล็กในประเทศที่เพิ่มขึ้นตอนนี้เป็นการขึ้นตามต้นทุน และตามกลไกตลาดโลก
ขยายความอีกนิดว่าราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 นั้น สาเหตุก็มาจากราคาเหล็กในตลาดโลกดีดตัวขึ้น เพราะ ความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 1,874 ล้านตัน นำโดยประเทศจีนซึ่งผลิตและใช้เหล็กมากที่สุดราว 55%ของโลก เหล็กที่จีนนำเข้าสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน 9.9 ล้านตัน เหล็กแผ่นรีดเย็น 3.8 ล้านตัน เหล็กแผ่นเคลือบ 2.4 ล้านตัน ส่งผลให้สินค้าเหล็กดังกล่าวที่จีนแย่งซื้อในตลาดโลกขาดแคลนและราคาสูงขึ้นมาตลอด เหตุที่จีนมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนของจีนในหลายอุตสาหกรรมเติบโตอย่างมหาศาล เช่น การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 89.9% เป็นเฉลี่ยเดือนละ 1.93 ล้านคันการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองเติบโต 38.3% การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโต 34.1% ฯลฯ ส่งผลให้ประเทศจีนผลิตเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ผลักดันให้ราคาเหล็กยังขึ้นต่อเนื่องคือ 1.โรงงานเหล็กในจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองถังซาน ซึ่งมีกำลังการผลิตเหล็กดิบมากกว่า 144 ล้านตัน ถูกรัฐบาลจีนสั่งให้ลดการผลิตลง (Production Cut) ราว 50% ระหว่างช่วงฉุกเฉินมีนาคม - มิถุนายน ตามมาตรการลดมลภาวะทางอากาศ 2.รัฐบาลจีนประกาศจะยกเลิก Rebate Tax (การให้คืนภาษี) 13% สำหรับสินค้าเหล็กส่งออก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2564 จะยิ่งส่งผลให้สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนมีราคาสูงขึ้นไปอีก
สำหรับประเทศไทยสามารถผลิตเหล็กดิบ (Crude Steel) ได้เองเป็นสัดส่วนเพียง 0.22% ของปริมาณการผลิตเหล็กดิบทั้งโลก และยังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าไม่ว่าจะเป็นเศษเหล็ก และเหล็กขั้นต้น ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก (Billet) เหล็กแท่งแบน (Slab) ดังนั้นประเทศไทยย่อมโดนผลกระทบของกระแสราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากด้วย
หนึ่งในผู้นำของผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาผลกระทบจากราคาเหล็กทั่วโลกขึ้นสูงนี้ยังพอมีอยู่ เช่น1.การเร่งพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน (SupplyChain) โดยผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลาซึ่งมีตัวอย่างที่ผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กบางรายได้นำร่องความร่วมมือดังกล่าวจนเป็นประโยชน์ทางธุรกิจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหล็กส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้พยายามรักษาสมดุล ระหว่างต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาก กับ การดูแลลูกค้าผู้ใช้เหล็กตามกลไกตลาดอยู่แล้วทั้งนี้ หากจะมีมาตรการเสริมใดๆ ก็ต้องพิจารณาเฉพาะแยกตามผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและรอบคอบ เพราะสินค้าเหล็กแต่ละผลิตภัณฑ์มีโครงสร้างการผลิต ตลาด และได้รับผลกระทบจากราคาตลาดเหล็กโลกต่างกันถ้ามีการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อาจสร้างผลกระทบจนเหล็กขาดแคลนรุนแรง
2.การสนับสนุนจากภาครัฐให้ผู้ผลิตเหล็กมีความสามารถจัดหาวัตถุดิบปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้เหล็กที่ขยายตัวของประเทศไทย เช่น การสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อการจัดหาวัตถุดิบเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินส่วนใหญ่จำกัดวงเงินสำหรับผู้ผลิตเหล็ก ทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบที่ราคาปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดโลกคิง เพาเวอร์ ออนไลน์ มอบความคุ้มค่าตลอดเดือนพฤษภาคม พร้อม 5 แคมเปญพิเศษตลอดเดือน 5
นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทยได้ร่วมหารือเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเหล็กราคาสูง
ซึ่งหลังการประชุมก็มีข้อเสนอแนะออกมา5 ข้อ ประกอบด้วย 1.การสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลา และสามารถทราบถึงต้นทุนที่แน่นอนก่อนรับงานโครงการต่างๆ ได้2.กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต และราคาต่อสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ 3.สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานโครงการภาครัฐ เพื่อให้สามารถครอบคลุม และหรือเยียวยาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้รับเหมาโครงการ 4.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเศษเหล็ก ที่ปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้เกิดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาที่สูงกว่าในประเทศเนื่องจากต้องเสียค่าขนส่งระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ค่าขนส่งปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาตู้บรรจุสินค้า (Container) ขาดแคลน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น5.เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเหล็ก และตอบสนองต่อนโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล
ที่ผ่านมาเมื่อเกิดประเด็นราคาสินค้าในประเทศตกต่ำหรือปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลมักจะใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแทรกแซงราคา ซึ่งว่ากันตรงๆ ก็คือ การบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งมักจะได้ผลเพียงระยะสั้น และส่งให้เกิดปับหาระยะยาวตามมา กรณีของสินค้ากลุ่มเหล็กหากมีการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงก็จะเป็นเรื่องที่สมควรยิ่ง เพราะจะไม่ทำให้การแก้ปัญหาหนึ่งแล้วไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งเหมือนที่ผ่านๆ มา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี