nn การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ หากมองไปในอนาคตอันใกล้นี้ มีอีก 2 ปัจจัยท้าทายสำคัญ ที่จะส่งผลต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน นั่นคือ 1.การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจโลก(Decoupling) จากความขัดแย้งระหว่างสองขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนบทบาทคู่ค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกและ 2.เทรนด์ Net zero supply chain หรือหมายถึงหลักคิดใหม่ในการดำเนินงานธุรกิจที่มุ่งเน้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้ประกอบการทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการค้าและการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับ เพื่อเพิ่มโอกาส ลดความท้าทายและปูทางไปสู่ห่วงโซ่อุปทานแห่งความยั่งยืน(Sustainable Supply Chain)
บทความฉบับนี้ จึงขอหยิบยกประเด็น Net zero supply chain มานำเสนอ ว่าหมายถึงอะไร ทำไมจึงสำคัญ และผู้ประกอบการสามารถดำเนินการตามแนวทาง Net zero supply chain ได้อย่างไร มีนัยและคำแนะนำต่อการดำเนินธุรกิจและบทบาทของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
Net zero supply chain หรือ Green supply chain คือ แนวคิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) จนถึงปลายน้ำ (Downstream) ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการผลิตและการให้บริการ การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค และการบริหารจัดการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์(Product Life Cycle) ซึ่งครอบคลุมทุกขอบเขตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง Scope 1, Scope 2 และ Scope 3 โดย Scope 1 หมายถึงก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร และการใช้พาหนะขององค์กร ขณะที่ Scope 2 หมายถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานขององค์กร เช่น การใช้ไฟฟ้า ส่วนScope 3 หมายถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ก๊าซเรือนกระจกจากวัตถุดิบในการผลิตและจากการเดินทางของพนักงาน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า Net zero supply chain นั้น มิได้เกี่ยวข้องเฉพาะกิจกรรมภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงกิจกรรมของคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ ด้วย
Net zero supply chain จึงมีความสำคัญเพราะก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่คือ Scope 3 ซึ่งเกิดจาก Supply chain ก๊าซเรือนกระจกของบริษัทขนาดใหญ่ในไทย ส่วนใหญ่ 58% มาจาก Scope 3 โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ล่าสุดปี 2565 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีการรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อสาธารณชนครอบคลุมทั้ง Scope 1-3 นั้น พบว่าก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ 58% เกิดจากกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) ขณะที่รองลงมา 34% คือ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัทโดยตรง (Scope 1) และที่เหลืออีก 8% คือ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานและไฟฟ้าในบริษัท (Scope 2) นอกจากนั้น หากพิจารณาเฉพาะบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม SET100 จะพบว่ามีสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 สูงถึง 62%
บริษัททั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนจากผลสำรวจ CEO ล่าสุดโดย UNGC และ Accenture ที่พบว่า 34% กำลังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 โดยเฉพาะ CEO ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ระบุถึงแนวทางนี้มากถึง 58% ขณะที่ 47% ของ CEO ระบุว่า Responsible supply chains เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท นอกจากนั้น ยังพบอีกว่ามีจำนวนบริษัททั่วโลกที่แสดงความมุ่งมั่นและกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ (SBTi) ล่าสุด ณ ก.ย. 2566 รวมกัน 5,919 ราย เพิ่มขึ้นมากถึง 40% จาก ณ สิ้นปี 2565 โดยมีบริษัทในไทยจำนวน 27 บริษัท ในปี 2565 พบว่า 96% ของบริษัททั่วโลกที่มีการกำหนดเป้าหมายตาม SBTi ได้ครอบคลุมไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจกใน scope 3 ด้วย ทิศทางการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความสำคัญว่าผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทต่างชาติ หรือ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ในไทย ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแผนการลดก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ของบริษัทเหล่านี้ด้วย
ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ Net zero supply chain ได้ใน 9 ขั้นตอนสำคัญ ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยของ WEF BCG และ HSBC โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมทั้ง Scope 1-3 ซึ่งต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ Supplier และทุกฝ่ายที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย ก่อนที่จะกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม เช่น ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนการจัดหาปัจจัยการผลิตใหม่ การผนวกตัวชี้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าไปในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร และการร่วมกับ Supplier เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ Supplier ด้วยโดยเฉพาะ SMEs ที่อาจมีความพร้อมน้อยกว่ารายใหญ่ นอกจากนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินงานที่มุ่งสู่ Net zero supply chain ผู้ประกอบการจึงควรร่วมกันสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการผลักดันแนวทางนี้
สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกำหนดเป้าหมาย Net zero supply chain มากขึ้น และธุรกิจที่มีก๊าซเรือนกระจก Scope 3 ในสัดส่วนที่สูง เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น การพาณิชย์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สินค้าของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักรอุตสาหกรรม ควรริเริ่มดำเนินกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมทั้ง Scope 1-3 เพื่อยกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Net zero emission อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับเทรนด์โลก ตลอดจนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจจากคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมถึงเพื่อลดความท้าทายจากกฎระเบียบการค้าโลกที่เข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป (CBAM) ที่ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะนับรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย อีกทั้งพร้อมรับโอกาสและบรรเทาความท้าทายจากฝั่งนักลงทุนที่จริงจังกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ดังเช่นในยุโรปที่ Sustainable Finance Disclosure Regulation SFDR) กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนในยุโรป ต้องรายงานก๊าซเรือนกระจก Scope 3 ที่อยู่ใน Portfolio ของพวกเขาด้วยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ภาคธุรกิจควรเริ่มจากการสร้างฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมทั่วทั้ง Supply chain โดยอาศัยความร่วมมือจากคู่ค้าและลูกค้า
สำหรับธุรกิจ SMEs การดำเนินการ Net zero supply chain อาจมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่ SMEs สามารถทำได้เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์นี้คือการปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของตัวเอง (Scope 1) โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะใช้กลยุทธ์ Net zero supply chain มากขึ้น โดยควรเริ่มจากการตรวจวัดและขึ้นทะเบียน Carbon footprint ซึ่งดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) เพื่อที่จะได้ทราบสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปแสดงให้คู่ค้ารับทราบ และวางแผนดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในลำดับถัดไปเช่น ลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หันมาใช้พลังงานสะอาด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ งานวิจัยโดย BCG ชี้ว่าในช่วงปี 2563-2593 จะต้องมีการเงินลงทุนทั่วทั้งโลกเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net zero supply chain มูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปีละราว 3-5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า40-50% คือการลงทุนในธุรกิจ SMEs
สำหรับภาครัฐ ควรมีมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ปรับตัวให้สอดรับกับทิศทาง Net zero supply chain เช่น การสร้างความตระหนักรับรู้ การอบรมและให้ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการจัดทำบัญชีคาร์บอนฯ ที่ได้มาตรฐาน และด้านเทคโนโลยีสีเขียว นอกจากนั้น ภาครัฐควรส่งเสริม Startup ที่คิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Net zero supply chain เช่น Platform ในการทำบัญชีคาร์บอนฯ ตลอดทั้งSupply chain รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ โดยความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น ในรูปแบบของ Supply chain financing ตลอดจนสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อผนึกกำลังสนับสนุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรภายในอุตสาหกรรม
Krungthai COMPASS
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี