nn ในระหว่างงานประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลก (World Bank Group) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้ชื่องานว่า Marrakech 2023 World Bank Group–IMF Annual Meetings ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2023 ณ เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก…IMF ได้เปิดเผยรายงาน World Economic Outlook ประจำเดือนตุลาคม โดย IMF ได้คงประมาณการเติบโตของ GDP โลกในปี 2023 ไว้อยู่ในระดับเดิม เท่ากับรายงานฉบับก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 3.0% เนื่องมาจากการขยายตัวที่ดีเกินคาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงอยู่ที่ 5% และยูโรโซน 0.7%
สำหรับประเทศไทย IMF ประเมินว่า GDP จะขยายตัวเพียง 2.7% ในรายงานเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับประมาณการลงจากรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 3.4% และต่ำกว่าตัวเลขประมาณการล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ที่ 3.4% สำหรับคาดการณ์ GDP ไทยในปีหน้า IMF ประเมินว่าจะขยายตัว 3.2% ลดลงจากรายเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่3.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ(ข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม 2023) พบว่า ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อที่คาดหวังอยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและกลุ่มอาหารที่ราคาลดลง ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร
นอกจากนี้ มร.ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ผู้อำนวยการงานฝ่ายวิจัยของ IMF กล่าวผ่านเวที World Economic Outlook ภายในงาน Annual Meetings ว่า เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และวิกฤตพลังงานเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตมีความแตกต่างกันมากขึ้น และแนวโน้มการเติบโตในระยะกลางก็อยู่ที่ระดับ “ปานกลาง” เท่านั้น ส่วนสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้น 4% อย่างรวดเร็ว หลังจากที่สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปะทุขึ้นมา ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นถึง 10%จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกราว 0.15% และกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.4% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลและปาเลสไตน์ IMF ยังไม่สามารถประเมินอะไรได้ในจุดนี้ เนื่องจากยังมีฉากทัศน์อีกมากมายที่ IMF ยังไม่ได้พิจารณา
“เศรษฐกิจโลกมีโอกาสจะชะลอตัวแบบ Soft Landing มากขึ้น แต่ IMF ก็ยังคงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ แม้ช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ดังนั้น การผ่อนคลายนโยบายใดๆ ถือเป็น “ความเสี่ยงอย่างมาก” เมื่อพิจารณาถึงการต่อสู้อันยากลำบากที่ผ่านมาเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ สิ่งที่สำคัญคือ นโยบายการเงินควรจะยังต้องคงอยู่ในขอบเขตที่เข้มงวด เนื่องจากราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่เร็วเกินไปอาจสูงกว่าต้นทุนที่เกิดระหว่างการใช้นโยบายตึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจมักจะสร้างความประหลาดใจในเชิงบวก” กูรินชาส์กล่าว
นอกจากเรื่องนโยบายการเงินข้างต้นแล้ว IMF ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายในด้านอื่นๆ ได้แก่ 1.นโยบายการคลัง ควรสนับสนุนกลยุทธ์ทางการเงินและช่วยกระบวนการลดเงินเฟ้อ นโยบายการคลังควรมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟู “กันชน” ทางการคลังและการหลีกเลี่ยงการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบวัฏจักร อาทิ การอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นแล้วโดยไม่จำเป็น 2.การปฏิรูปโครงสร้าง ด้วยการเติบโตที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และพื้นที่ทางการคลังที่ลดลง การปฏิรูปโครงสร้างจึงมีความสำคัญ การเจริญเติบโตในระยะยาวที่สูงขึ้นสามารถบรรลุได้ผ่านลำดับการปฏิรูปโครงสร้างอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแล รวมทั้งกฎระเบียบทางธุรกิจและภาคส่วนภายนอก 3.ความร่วมมือแบบพหุภาคี โดยประเทศต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการนำนโยบายที่ขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ ควรมุ่งเป้าไปที่การจำกัดความแตกแยกทางภูมิเศรษฐกิจ และทำงานเพื่อฟื้นฟูความไว้วางใจในกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีที่ยึดตามกฎเกณฑ์และเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับโลกที่แข็งแกร่ง
โลกการค้า...เห็นว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงต้องให้ความสำคัญไปที่เหตุภาวะสงครามระหว่าง อิสราเอล และกลุ่มฮามาส เพราะหากยืดเยื้อและขยายวงออกไปเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล สิ่งที่จะตามมา คือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและตามมาด้วยความผันผวนในตลาดเงิน ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ของไทยได้ความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
อาทิ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เขียนข้อความในเฟซบุ๊ก อมรเทพ จาวะลา ว่า ประเมินผลกระทบการโจมตีอิสราเอล หลังจากที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล และมีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสถานการณ์ยังเสี่ยงรุนแรงและยืดเยื้อออกไปผมมองว่าผลกระทบต่อไปมีทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทางตรง...1.การส่งออก 2.การท่องเที่ยว 3.รายได้แรงงาน แต่ผลทางตรงน่าจะจำกัด อิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย (ส่งออกเน้นสินค้าเกษตร/อาหาร) ไม่ใช่กลุ่มท่องเที่ยวสำคัญ แต่ให้ระวังด้านการขนส่งทางอากาศที่อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางในตะวันออกกลางจนกระทบการท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ แม้มีแรงงานไทยไปทำงานส่งรายได้เข้าประเทศมาก แต่ยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่สุด น่าจะรองไต้หวัน อาจต้องขอดูจำนวนเทียบเกาหลีใต้หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ ด้านการลงทุนก็ยังไม่มาก
ทางอ้อม...1.ราคาน้ำมันพุ่ง 2.เงินวิ่งสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (ดอลลาร์สหรัฐ) 3.ราคาทองคำขึ้น ผมยังมองว่าผลทางอ้อมไม่น่ารุนแรง อิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันอีกทั้งประเทศรอบข้างอย่างจอร์แดนก็ไม่ได้มีน้ำมันมาก น่าจะห่วงการขยายวงกว้างไปอิหร่านหรือซาอุดีอาระเบียมากกว่า (ตอนนี้ยังไม่มีท่าทีไปไกล) หรือจะกระทบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยุโรป แต่ก็ทำได้หลายช่องทาง (ระวังกระทบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบ เช่น คลอง Suez และ supply chain disruption กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์) ผมจึงมองว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่น่าไปไกล เว้นแต่ประเทศอื่นเข้าร่วมสงครามนี้ ส่วนพอน้ำมันพุ่ง ทองก็ขึ้นตาม ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งเพราะเป็น safe haven
สรุป ผมห่วงปัญหาสงครามในอิสราเอลจะยืดเยื้อและลามไปกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจนไทยขาดดุลการค้า ตลาดการเงินเสียเสถียรภาพ บาทอ่อน ห่วงการคุมราคาน้ำมันยิ่งทำให้รัฐบาลขาดทุนในกองทุนน้ำมัน หนี้เพิ่มไปอีก น่าหาทางใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และอุดหนุนเฉพาะที่จำเป็น ผมยังเชื่อว่าสงครามจะจบในไม่ช้า แต่ก็ไม่มีใครรู้ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ลากมาเป็นปีก็ยังทำได้ เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันดูครับ
ขณะที่ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาวะสงครามที่เกิดขึ้น หากทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือสงครามขยายวงกว้าง ก็อาจส่งผลให้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ หรือ อย่างน้อยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้า ซึ่งจะกดดันแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังมีความผันผวนอยู่ (ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติยังมีลักษณะการซื้อสุทธิ สลับกับการขายสุทธิ)
ด้าน ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวระหว่างการจัดงาน “Monetary Polycy Forum” ว่า หลายฝ่ายคาดว่าเหตุการณ์รุนแรงน่าจะยืดเยื้อเหมือนกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และยอมรับปัญหาในตะวันออกกลางคาดเดายาก อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบขยับสูงขึ้นสักระยะ ขณะเดียวกัน ปัญหารุนแรงขณะนี้ยังทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เพื่อหาความปลอดภัยในการลงทุน ส่งผลให้ค่าเงินหลายประเทศทั่วโลกอ่อนค่าลง มีต้นทุนนำเข้าพลังงานสูงขึ้น การออกมาตรการดูแลของรัฐบาล ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ หรือกองทุนน้ำมันฯ เพราะราคาปรับเพิ่มระยะหนึ่ง
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี