แนวปฏิบัตินี้ได้เคยมีในประเทศอิตาลี แต่ตอนหลังเกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากมาย จนต้องเลิกไปในที่สุด
บริบทของประเทศไทยและประเทศอิตาลีแตกต่างกัน ประเทศไทยและประเทศจีนมีความใกล้ชิดกันตั้งแต่สมัยอดีตกาล คนไทยจำนวนไม่น้อยมีเชื้อสายจีน และคนสองประเทศนี้จะเข้าใจความคิด และขนบธรรมเนียมประเพณีตลอดจนวัฒนธรรมกันพอสมควร ซึ่งจะแตกต่างกันมากระหว่างประเทศจีนกับประเทศอิตาลี ที่ประเทศอิตาลีอาจจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจจีนมาช่วยในช่วงแรกๆ เพื่อทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวชาวจีน
ในมุมมองของคนไทยทั่วๆไปอาจมองว่า เป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาอาชญากรรม
แต่ในมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวจีน อาจจะแสดงท่าทีเฉยๆ มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน แม้จะมีตำรวจจีนในเครื่องแบบมาปฏิบัติงานร่วมในไทย ก็มิได้รู้สึกแตกต่างอย่างไร หรืออาจจะอุ่นใจขึ้นบ้าง ที่เมื่อมีปัญหาสามารถสื่อสารเป็นภาษาจีนได้ แต่โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวจะพยายามทำตัวไม่เป็นปัญหา และไม่ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว
ในมุมของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานทั้งหลาย มีทัศนคติแตกต่างออกไป โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหลักการปฏิบัติต่อชาวต่างชาติทุกชาติในประเทศไทยเป็นไปอย่างเท่าเทียม แต่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์สากลสนธิสัญญาทางการทูตที่มีระหว่างกัน ดูจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีเหตุผล มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติระหว่างชนชาติได้
ในมุมมองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจจะเกิดข้อกังขาว่า ตำรวจไทยไม่สามารถดูแลและให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติหรืออย่างไร และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศไทย ที่ให้ตำรวจจีนมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย
การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาตินั้น ตำรวจไทยมีความร่วมมือกับองค์การตำรวจสากล มีชื่อเต็มว่า “The International Criminal Police Organization” (คำย่อว่า I.C.P.O หรือที่เรียกกันจนเป็นที่คุ้นเคยว่า Interpol) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่แล้ว โดยประเทศไทยได้ตั้งสำนักงานกลางแห่งชาติ (National Central Bureau หรือ N.C.B.) อยู่ที่กองการต่างประเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามความตกลงระหว่างสำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลประเทศไทย (ตำรวจสากลกรุงเทพ) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารองค์การตำรวจสากลโดยตรง (Agreement between the INTERPOL National Central Bureau for Thailand in Bangkok and Royal Thai Police on Direct Access to the INTERPOL Information System) ตามมติคณะรัฐบาลสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 18 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในทุกรูปแบบ รวมถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
กรณีประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2559 กระทรวงมหาดไทยอิตาลีได้อนุมัติให้ตำรวจจีนในเครื่องแบบ เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเมืองหลัก ซึ่งถือเป็นชาติแรกในยุโรปที่คิดค้นและนำโครงการดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจีนในลักษณะโครงการทดลองนำร่อง โดยเหตุผลว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนกว่า 3 ล้านรายต่อปีแล้ว ยังมีชาวจีนอีกกว่า 266,000 คนที่ลงหลักปักฐาน และทำงานในอิตาลี แต่แทบไม่มีการติดต่อกับสังคมอิตาลีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอความช่วยเหลือจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ราชการ
ต่อมา ปีพ.ศ. 2565 มีการเปิดเผยว่า กลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ได้เปิด “สถานีตำรวจลับจีน” กว่า 11 แห่ง ในเมืองหลัก โดยฉากหน้าจะเป็นเสมือนศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวจีนในอิตาลี แต่ฉากหลังจริงๆ แล้วกลับเป็นกลุ่มชาวจีนที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ พยายามผลักดันให้ชาวจีนที่อยู่ในอิตาลีกลับไปยังแผ่นดินเกิด รวมถึงมีพฤติกรรมการรังควาน ข่มขู่ คุกคาม บุคคลและครอบครัวที่อาศัยในจีนและอิตาลีด้วยกลุ่มชาวจีนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ยังมีการติดต่อกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนอีกด้วย มีรายงานการตรวจพบว่ามีสถานีตำรวจลับจีนเช่นนี้อยู่ราว 100 แห่งทั่วโลก โดยอิตาลีเป็นชาติที่มี “สถานีตำรวจลับ” มากที่สุดสถานีตำรวจลับที่ว่านี้ กระจายไปตามประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักร เยอรมนี และประเทศอื่นๆ (รวมถึงประเทศไทยเอง)
ต่อมาช่วงกลางเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2565 ประเทศอิตาลีได้ประกาศยุติโครงการความร่วมมือดังกล่าวอย่างถาวรโดยที่ทาง เซฟการ์ด ดีเฟนเดอร์ (Safeguard Defenders) (ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรก่อตั้งขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน) ออกมาแถลงว่า การประกาศยุติโครงการดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีสถานีตำรวจลับจีนโดยตรง ที่แพร่กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ของอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นโรม มิลาน ปราโต เนเปิลส์ และอื่นๆ โดยอ้างว่า การยุติโครงการ เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถานีตำรวจลับจีนแต่อย่างใด ซึ่งตรงกันข้ามในทางปฏิบัติของรัฐบาลอิตาลีมีท่าทีเร่งปราบปรามปัญหาดังกล่าวให้หมดไป และกำหนดมาตรการป้องกันเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ในที่สุดประเทศไทยได้ยุติโครงการตำรวจจีนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ
บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอ้างว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด และสื่อสารมวลชนไทยได้กลายเป็นแพะอีกตามเคย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี