nn ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์ ภาพรวมการส่งออกไทย ปี 2567 และ แนวโน้มของ ปี 2567 โดยระบุว่า
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 22,791.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นโดยขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่องที่ 4.7% YOY (เทียบเดือน ธ.ค. 2565) และ 1.6% MOM_ (เทียบเดือน พ.ย. 2566 แบบปรับฤดูกาล) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 787.6%YOY (หรือ Contribution to% YOY Growth = 1.7%) หากหักปัจจัยทองคำแล้ว การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 3%YOY และ 0.4% MOM_sa สะท้อนว่าสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าไทยยังไม่ชัดเจนนัก เพราะมีปัจจัยพิเศษรวมอยู่เช่นเดียวกับช่วงก่อนหน้า เช่น ปัจจัยฐานต่ำ การส่งออกทองคำ การส่งออกยานยนต์เพื่อใช้งานพิเศษ ซึ่งยังไม่สะท้อนภาวะการค้าระหว่างประเทศได้จริงทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกไทยในข้อมูลระบบศุลกากรปี 2566 มีมูลค่า 284.561.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปีหดตัวเล็กน้อย -1.0%YOY
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าปรับดีขึ้นทุกกลุ่ม นำโดย 1.สินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวแข็งแกร่ง 32.4% ต่อเนื่องจาก 42.4% ในเดือนก่อน 2.สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง 5% จาก 3.4% ในเดือนก่อน โดยเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดี 3. สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.6% ต่อเนื่องจาก 1.7% ในเดือนก่อน นำโดยการส่งออกน้ำตาลทราย และ 4.สินค้าเกษตรหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน -8.3% จาก 7.7% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่หดตัว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกข้าวเป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัว
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัวในบางตลาด โดย 1.ตลาดยุโรป หดตัวแรงขึ้นที่ -8.4% หลังจากหดตัว -6.6% ในเดือนก่อน สำหรับการหดตัวในเดือนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์การโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดงที่อาจส่งผลให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปยุโรปใช้เวลานานขึ้นและมีต้นทุนที่สูงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากว่าการส่งออกไปยุโรปหดตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 เดือนแล้วตามภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่าผลจากการโจมตีดังกล่าวอาจชัดเจนขึ้นในเดือน ม.ค. 2567 และ 2.ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัว 567.6% จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (โดยเฉพาะทองคำ) ที่ขยายตัวมากถึง 3,487.2% 3. ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลงเป็น 0.3% เทียบกับ 17.5% ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยกดดันจากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่หดตัว -17.4% 4.ตลาดจีน พลิกกลับมาขยายตัว 2% หลังจากหดตัว -3.9%
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 21,818.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ -3.1%YOY จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัว -7.3% -5.9% และ -2.2% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง และสินค้าทุนขยายตัว 5.8% และ 1% ตามลำดับ สำหรับดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้กลับมาเกินดุล 972.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับการขาดดุล -2,399.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 ดุลการค้าขาดดุล -5,192.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
SCB EIC มองมูลค่าการส่งออกไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 ที่ 3.7% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ 1. ปริมาณการค้าโลก
ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกแม้จะชะลอลงบ้างอยู่ที่ราว 2.5% 2.ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 2567 3.ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ 4.ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกของไทยผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับศรีลังกา ซึ่งจะลงนามในช่วงต้นปีนี้ รวมทั้ง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งวางแผนเจรจาให้สำเร็จในปี 2567
อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่อุปทานโลกอาจเผชิญความเสี่ยงอีกครั้งจาก 1.เหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) โดยในเดือน ธ.ค. 2566 กลุ่มกบฏฮูตีซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วง ค.ศ.1980-1990 และมีฐานทัพที่ประเทศเยเมน ได้เข้าโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดง ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังคลองสุเอซและนับเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญระหว่างยุโรปและเอเชีย มีปริมาณการขนส่งคิดเป็น 12% ของการขนส่งทางทะเลของโลก โดยกบฏฮูตีอ้างว่าการโจมตีนี้เป็นการแสดงการสนับสนุนกลุ่มฮามาสในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี พ.ศ. 2566 การโจมตีของกบฏฮูตีส่งผลให้บริษัทขนส่งรายใหญ่หลายรายตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทางคลองสุเอซเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย และเปลี่ยนไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในประเทศแอฟริกาใต้แทน ทำให้ใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้น 10-15 วัน นอกจากนี้ การโจมตีดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้ส่งออกจากเอเชียต้องจ่ายค่าระวางเรือและค่าประกันภัยทางเรือเพิ่มสูงขึ้น
2.ความแห้งแล้งของคลองปานามา คลองปานามาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ คิดเป็น 5% ของการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก ตั้งแต่ปี 2566 ปานามาเผชิญปัญหาแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนน้อย ทำให้ระดับน้ำในคลองลดลงมาก องค์การบริหารคลองปานามา (Panama canal authority)จึงจำเป็นต้องจำกัดจำนวนเรือสัญจรผ่านคลองปานามาในแต่ละวัน โดยในปัจจุบันจำกัดไว้ที่ 24 ลำต่อวันซึ่งน้อยกว่า 38 ลำต่อวัน ในสภาวะปกติค่อนข้างมาก การจำกัดจำนวนเรือดังกล่าวทำให้เรือขนส่งสินค้าจากเอเชียจะต้องจอดรอนานขึ้น เพื่อสัญจรผ่านคลองปานามาไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากเรือขนส่งสินค้าไม่อยากรอ อาจเลือกจ่ายเงินเพิ่มเพื่อขอลัดคิวและสัญจรผ่านคลองปานามาไปก่อนได้ หรืออาจเลือกเดินทางอ้อมทวีปอเมริกาใต้แทน
หากสถานการณ์ข้างต้นมีแนวโน้มทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงัก อาจกระทบการส่งออกไทยได้ โดยสถานการณ์ความแห้งแล้งของคลองปานามาจะทำให้เรือขนส่งสินค้าจากไทยที่ต้องการใช้เส้นทางดังกล่าวต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้น เนื่องจากต้องจอดรอเพื่อสัญจรผ่านคลองปานามา หรือมีต้นทุนขนส่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ประเมินว่าสินค้าจากประเทศทางเอเชียส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกส่งออกไปที่ท่าเรือในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเส้นทางคลองปานามาเป็นหลัก การส่งออกไทยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความแห้งแล้งของคลองปานามามากนัก
นอกจากนี้ ระยะเวลาขนส่งที่ยาวนานขึ้น อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่เพียงพอต่อการขนส่งเส้นทางอื่นๆ และทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยค่าระวางเรือในเส้นทางไทย-ยุโรปของเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตและ 40 ฟุตเพิ่มขึ้นเป็น 3,200 และ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ เพิ่มจากปี 2566 ถึง 3 เท่า (ข้อมูล ณ 24 มกราคม 2567) แม้ค่าระวางเรือจะยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดช่วงหลังโควิด-19 ที่ 8,200 ดอลลาร์สหรัฐและ 14,300 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต และ 40 ฟุต ค่อนข้างมากก็ตาม
สำหรับค่าระวางเรือในเส้นทางการขนส่งจากไทยไปสหรัฐฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการโจมตีเช่นกัน โดยค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต และ 40 ฟุต ในเส้นทางไทย-สหรัฐฯฝั่งชายฝั่งตะวันตกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 และ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต และ 40 ฟุตในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ ชายฝั่งตะวันออกปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,200 และ 6,900 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับค่าระวางเรือในปี 2566ที่ผ่านมาถึง 3 เท่าเช่นกัน (ข้อมูล ณ 24 มกราคม 2567) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตียังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ จึงอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี