ในช่วงนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ผลักดันกระแสซอฟต์เพาเวอร์ ที่กำลังมาแรง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเข้ามาเยือนประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้ที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
นักท่องเที่ยวชาวไทยเองได้สนใจเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่แพ้กัน ทำให้การจองรีสอร์ท ที่พัก และห้องพักโรงแรม ตามเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ คึกคักเป็นอย่างมาก ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูล และสืบค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกสบาย รวมถึงการจองที่พักที่เป็น รีสอร์ท บ้านตากอากาศ โรงแรม สามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกรวดเร็วเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน เป็นเหตุให้บรรดาเหล่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสนี้ สร้างเพจปลอมบนเฟซบุ๊ค รวมทั้งสร้างเว็บไซต์ปลอม สวมลอยแอบอ้างเป็นเจ้าของกิจการ รีสอร์ท ที่พัก โรงแรมที่เป็นสถานที่พักหรู ดูดีมีชื่อเสียงในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยการสร้างเนื้อหาปลอม และบางกรณีถึงกับคัดลอกรูปหรือข้อความจาก เพจ เว็บไซต์ ของเจ้าของกิจการตัวจริง มาใส่ลงในเพจปลอม เว็บไซต์ปลอม เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวง และชักชวนเหยื่อ หรือนักท่องเที่ยวผู้เคราะห์ร้าย ให้จองที่พักในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากนี้ยังหลอกลวง และล่อลวงนักท่องเที่ยวที่หลงเชื่อ ทำธุรกรรมจอง โดยหลอกให้กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวเพื่อทำการจองสำรองที่พัก เช่น ชื่อผู้จอง หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งที่ทำงานและบ้าน ตลอดจนวัน เวลาที่จะเข้าพัก แต่ไม่มีการสำรองที่พักจริง และลวงเหยื่อให้โอนเงินค่าที่พักล่วงหน้า หรือเงินมัดจำ หรือเงินประกันการจองเข้าบัญชีม้า หากเหยื่อผู้หลงเชื่อไม่ได้ติดตามตรวจสอบยืนยัน กว่าจะรู้ว่าถูกหลอก เป็นตอนที่สู้อุตส่าห์เดินทางออกท่องเที่ยวไปยังที่พักที่จองไว้ และจะเข้าเช็คอินที่พัก ซึ่งมิได้มีการจองที่พักจริง สร้างความเสียหายไม่เพียงทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินของเหยื่อ รวมทั้งเสียเวลา เสียความรู้สึก ผิดหวังอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ให้แก่บรรดาเจ้าของที่พักที่แท้จริงที่ถูกแอบอ้างอีกด้วย
เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกหลอก เมื่อติดต่อสอบถามไปที่เจ้าของกิจการ รีสอร์ท ที่พัก โรงแรม ตัวจริง จะได้รับการปฏิเสธความรับผิดชอบจากเจ้าของกิจการ และเจ้าของกิจการจะอ้างว่า เจ้าของกิจการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเพจปลอม เว็บไซต์ปลอมเหล่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
พฤติกรรมมิจฉาชีพนี้ นับเป็นอาชญากรทางคอมพิวเตอร์อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นภัยร้ายต่อภาพลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัย สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่แฝงตัวก่ออาชญากรรมอยู่อย่างเงียบๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายและกฎหมายเฉพาะพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 รวมถึงองค์กรซึ่งมีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามโดยเฉพาะยังไม่อาจต้านทานการกระทำความผิดได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ บางรายจะมีแหล่งซ่องสุมกระทำความผิดในต่างประเทศ และมีการพัฒนาทักษะในการหลอกลวงเหยื่อได้ตลอดเวลา
การสกัดกั้นอาชญากรรมประเภทนี้ที่ดีที่สุดเป็นการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ให้มีความรู้เท่าทันกลโกง และกลเม็ดในการหลอกลวงทั้งหลาย ปลูกจิตสำนึกร่วมกันตระหนักถึงความเสียหายที่ร้ายแรงจากภัยร้ายแรงรูปแบบใหม่ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลนี้ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันสอดส่องจับตาแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เข้าปราบปรามโดยความร่วมมือของประชาชนทุกระดับ
วิธีการป้องกันตัวมิให้ตกเป็นเหยื่อเบื้องต้น ผู้จองควรต้องตรวจเช็คความถูกต้องแท้จริง ของเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ที่รับจองข้อพิรุธของเพจปลอมมิจฉาชีพที่พบบ่อยคือ เพจปลอมมักจะไม่มีเครื่องหมายรับรองตัวตน (Verified Badge)ซึ่งเป็นรูปเครื่องหมาย “ถูก” กลางฉลากวงกลมขอบหยักสีฟ้า
การทำธุรกรรมจองที่พักที่ถูกหลอกลวง มักจะเป็นการทำธุรกรรมการจองที่ผู้จองเข้าใจไปเองว่า กำลังติดต่อโดยตรงกับเจ้าของกิจการ ไม่ผ่านผู้ให้บริการจองที่เชื่อถือได้ เช่น ทราโวก้า บุคกิ้ง อโกด้า
หากเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำธุรกรรมจองผ่านเพจหรือเว็บไซต์ของเจ้าของกิจการโดยตรง ควรโทรสอบถามสำนักงานที่พักโดยตรงเพื่อยืนยัน การให้ข้อมูลจูงใจอันเป็นเท็จจากมิจฉาชีพผู้แอบอ้างตัวว่า เป็นพนักงานของเจ้าของกิจการ เช่น ค่าจองห้องพักในราคาที่ถูกเกินจริง โดยอ้างว่า เป็นโปรชั่นพิเศษในช่วงนี้ เวลานี้เท่านั้น เพื่อจูงใจหลอกล่อให้โอนเงินค่าที่พักล่วงหน้าหรือค่ามัดจำล่วงหน้า โดยให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบุคคลธรรมดา ทั้งที่ควรจะต้องโอนเงินเข้าบัญชีนิติบุคคลที่พักหรือรีสอร์ทนั้นๆ แต่หากเป็นบัญชีบุคคลธรรมดาให้ตรวจสอบหมายเลขบัญชีก่อนทุกครั้งว่า มีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ โดยผ่านเว็บไซต์ Google, blacklistseller.com หรือ chaladohn.com ทำการตรวจสอบเพจที่พักจาก URL บนบราวเซอร์ Google หรือของสภาองค์กรผู้บริโภคhttps://web.facebook.com/tccthailand?_rdc=1&_rdr ที่รวบรวมข้อมูลเพจของผู้ให้บริการที่แท้จริง จากนั้นตรวจดูความโปร่งใสของเพจเพื่อเทียบกับเพจที่ปรากฏอยู่ดูที่ระยะเวลาการสร้างเพจ เพจปลอมมักจะเปลี่ยนชื่อเมื่อเวลาไม่นาน และชื่อผู้ดูแลเพจไม่อยู่ในประเทศไทย หรือหากอยู่ในประเทศไทยก็จะเป็นสถานที่ตั้งอื่นที่ไม่ใช่สถานที่ตั้งประกอบการจริง
ประเด็นที่เหยื่อผู้จองที่พักถูกหลอกลวงโดยจองผ่านเพ็จปลอม เว็บไซต์ปลอมทำให้มีคำถามคาใจแก่บรรดานักท่องเที่ยวว่า เจ้าของกิจการ รีสอร์ท ที่พัก โรงแรมไม่ต้องรับผิดชอบ หรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้ทุกกรณีจริงหรือ?
ปัญหานี้ต้องพิจารณาจากหลักกฎหมายทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 บุคคลใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
กรณีที่เกิดขึ้น จึงต้องพิจารณาว่าบรรดาเจ้าของกิจการทั้งหลายที่มี เพจ เว็บไซต์ ของตนเองเมื่อมีมิจฉาชีพสร้างเพจปลอม เว็บไซต์ปลอม แอบอ้างกิจการ รีสอร์ท ที่พัก โรงแรม เจ้าของกิจการนั้นได้ดำเนินการอย่างใดบ้างในการป้องกันแก้ไขเพื่อไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง เช่น ประกาศโฆษณา แจ้งเตือนผ่านสื่อต่างๆ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบให้ดำเนินการสืบสวน สอบสวน เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด หากดำเนินการเช่นนี้แล้ว เจ้าของกิจการไม่ต้องรับผิด
แต่หากเจ้าของกิจการละเลยไม่ดำเนินการอะไร ทั้งที่ตนเองยังทำการรับจองผ่านช่องทางอินเตอร์เนต ย่อมควรจะรู้ถึงการที่มิจฉาชีพแอบอ้างกิจการของตนเพราะย่อมต้องสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ ทางอินเตอร์เนตเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะค้นหาผ่าน Google หรือ Search Engine อื่นๆ อาจถือได้ว่าเจ้าของกิจการเหล่านั้นยินยอมให้มิจฉาชีพเชิดตัวมิจฉาชีพเองเป็นตัวแทนของเจ้าของกิจการตัวจริง เจ้าของกิจการจึงต้องรับผิดชอบต่อเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงที่สุจริตซึ่งจองผ่าน เพจปลอม เว็บไซต์ปลอม ส่วนจะรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องที่ต้องนำสืบเมื่อเป็นคดีความ และศาลจะเป็นผู้พิจารณา
วิธีป้องกัน และระมัดระวังที่ดีที่สุด เป็นไปตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า ผู้ซื้อควรระวัง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี