ยุคดิจิทัลปัจจุบันนี้ คงไม่มีใคร หรือโดยเฉพาะนักโซเชียลทั้งหลาย ที่จะไม่รู้จัก แอปพลิเคชั่นยอดนิยมและโด่งดังไปทั่วโลกอย่าง TikTokจนแทบจะกลายเป็นแอปพลิเคชั่นสามัญประจำเครื่องสมาร์ทโฟนที่ขาดไม่ได้ แม้ในการเปิดตัวในช่วงแรกๆ จะมีการจูงใจผู้ทดลองใช้ และยอมสมัครเข้าเป็นสมาชิกในทันที ด้วยการสมนาคุณผู้สมัครสมาชิกในลักษณะวอลเชอร์ มูลค่าที่ปฏิเสธไม่ได้ในหมู่ผู้ใช้กลุ่มวัยรุ่น
TikTok เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2558 นอกจากจะเป็นแอปพลิเคชั่น ฟรี ที่ไม่เรียกเก็บค่าสมาชิกในการเข้าใช้ยังมาพร้อมบรรดาฟังก์ชั่นของการใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพ (Full Function) แม้จะมีข้อจำกัดด้านเวลาอยู่บ้าง แต่ใช้งานง่ายบนสมาร์ทโฟนทุกๆ แฟลตฟอร์ม กับคุณภาพของภาพและเสียงที่ออกมาคมชัดในระดับเอชดี (HD) จึงมีผู้นำมาประยุกต์ใช้กับงานกับธุรกิจการขายและโฆษณาสินค้าออนไลน์ สร้างรายได้มหาศาล
ไบต์แดนส์ (ByteDance) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ Tik Tok เป็นบริษัทสัญชาติจีน สำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศจีน เข้าไปลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะบริษัทข้ามชาติ แอปพลิเคชั่นนี้ได้รับความนิยมล้นหลามแซง แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น ไลฟ ไลฟ์ (Live Life) ยูทูบ (YouTube) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) จนเป็นที่จับตาของรัฐบาลสหรัฐ ในฐานะคู่ทางการค้าและประเทศมหาอำนาจ ที่มีค่านิยมทางการปกครองประเทศต่างขั้วต่างค่ายกัน
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐถึง 170 ล้านบัญชี มีกิจการ SME ใช้เพื่อส่งเสริมการขายและทำธุรกิจ 7 ล้าน บัญชี TikTok มีมูลค่าทางธุรกิจในสหรัฐถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า3.4 ล้านล้านบาทไทย
เมื่อ TikTok ในสหรัฐได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก รัฐบาลสหรัฐเริ่มรู้สึกว่า ความมั่นคงแห่งประเทศสหรัฐ กำลังถูกสั่นคลอน เมื่อข้อมูลของสมาชิกผู้ใช้งานซึ่งเป็นพลเมืองชาวอเมริกันจำนวนมาก และในจำนวนนั้นรวมถึงพลเมืองที่มีสถานะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานหน่วยงานของรัฐบาลด้วย อาจจะถูกส่งเข้าสู่ระบบประมวลผลในประเทศจีน ทั้งที่บริษัทผู้ให้บริการให้การรับรองว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่รั่วไหล และกำลังจะมีมาตรการเปลี่ยนเส้นทางข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นบริษัทให้บริการจัดเก็บและจัดการข้อมูลอย่าง Oracle Cloud แล้วก็ตาม
รัฐบาลสหรัฐได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะต้องป้องกันปัญหาที่จะเกิดในเรื่องนี้ ด้วยการประกาศคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order 14083) เชิงนโยบายเชิงกีดกันมิให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น TikTok ในการทำงานของหน่วยงานรัฐซึ่งรวมความถึงข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรหรือหน่วยงานรัฐบาล และใช้มาตรการทางการค้าซึ่งมีบริบทบังคับให้บริษัทยอมขายหุ้นให้นักลงทุนสหรัฐฯมีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากในบริษัท อันเป็นมาตรการจำกัดสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่การลงทุนที่เข้าข่าย ที่คณะกรรมาธิการการลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐ (The Committee on Foreign Investment in the United States (CFIUS)) พิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายอาจเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ”
ในขณะเดียวกันนี้ รัฐสภาสหรัฐ ได้เสนอร่างกฎหมายห้ามใช้แอปพลิเคชั่น TikTok กับเครื่องมือสื่อสารองค์กรรัฐบาล (No TikTok on Government Devices Act) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้โหวตเห็นชอบร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ในเวลาต่อมา
ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ให้ความเห็นชอบผ่านร่างกฎหมาย เพื่อแบนกิจการ TikTok ในสหรัฐ โดยบังคับให้ขายหุ้นให้แก่ชาวสหรัฐหรือบริษัทสหรัฐภายใน 6 เดือน หากไม่สามารถทำได้ต้องเลิกประกอบกิจการในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ยังต้องรอวุฒิสภาให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งบรรดาวุฒิสมาชิกได้แสดงท่าทีว่า จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายนี้
หากกฎหมายนี้ใช้บังคับ คงเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีผู้มีเงินทุนมากมหาศาลมาซื้อกิจการ TikTok ภายในเวลาอันจำกัด อีกทั้งบริษัทที่อยู่ในกิจการโซเชียลอาจเกรงว่า หากซื้อกิจการนี้อาจผิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Law) ดังนั้น ตามข้อกำหนดของกฎหมายนี้ จึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้
หากกิจการ TikTok ไม่ยอมเลิกประกอบกิจการ หลังจากที่กฎหมายใช้บังคับในสหรัฐ กิจการ TikTok มีทางออกทางเดียวคือ ร้องต่อศาลสูงสหรัฐ (Supreme Court) ว่า กฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ เพราะไปห้ามการแสดงออกทางด้านความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่สำคัญในสหรัฐ
ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถแสดงพยานหลักฐาน ให้ศาลเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า TikTok ที่ใช้แพร่หลายและเป็นที่นิยม เมื่อมีผู้ใช้งานจะถูกสอดแนม หรือถูกล้วงเข้าไปดูข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้ในอุปกรณ์ ประหนึ่งว่าเป็น มัลติแวร์ หรือสปายแวร์เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลสหรัฐจะแพ้คดี และศาลสูงสหรัฐจะตัดสินว่า กฎหมายไม่มีผลใช้บังคับ
ฤาว่า ประเทศสหรัฐที่แสดงตนมาตลอดว่า เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ จะจำกัดและละเมิดเสรีภาพเสียเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี