กรณีเยาวชนอเมริกัน วัย 15 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่ โรงเรียนมัธยม ออกซ์ฟอร์ดในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2564 จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย จากการกระทำอุกอาจดังกล่าว จนเป็นข่าวสะเทือนขวัญที่ถูกเผยแพร่ทั่วไป
เหตุการณ์นี้ ได้กลับเป็นข่าวอีกครั้งหนึ่ง ที่สร้างความสั่นสะเทือนไม่แพ้กัน เมื่อศาลโอ๊คแลนด์เคาน์ตี้ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา โดยคณะลูกขุนได้มีคำตัดสินว่า ทั้งบิดาและมารดาของเยาวชนรายนี้ มีความผิดตามกฎหมายฐานทำให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท เพราะได้ซื้อปืนให้แก่เยาวชนผู้ก่อเหตุ แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการดูแล หรือห้ามปรามเยาวชนนั้น กลับปล่อยปละละเลย ให้เกิดเหตุร้ายจนมีผู้เสียชีวิต
ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) แบบเดียวกับประเทศสหราชอาณาจักร หรือ ที่เราเรียกกันว่า ประเทศอังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ ในคดีอาญา จะมีคณะลูกขุนตัดสินคดีในข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดกฎหมายหรือไม่จากนั้นศาลจะพิพากษาตัดสินคดีครั้งหนึ่งว่า หากจำเลยกระทำความผิดตามคำตัดสินของคณะลูกขุน จำเลยจะต้องรับผิดจำคุกเป็นระยะเวลานานเท่าใด หรือต้องโทษประหารชีวิต
คณะลูกขุนเป็นบุคคลธรรมดา ที่ถูกสุ่มเลือกให้มาพิจารณาตัดสินคดีแต่ต้องไม่เป็นนักกฎหมายเพราะถือว่าเป็นความเห็นของบุคคลทั่วไปในการพิจารณาพิจารณาว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่
การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองของพลเมืองอเมริกันในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐในส่วนที่แก้ไข ครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า Second Amendment ที่ให้สิทธิพลเมืองสหรัฐ ในการมีอาวุธไว้ป้องกันตัว การมีปืนถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิเสรีภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน
ชาวอเมริกันมีสถิติครอบครองปืนสั้น 857 ล้านกระบอกจากยอดจำหน่ายปืนสั้นที่ผลิตขายทั่วโลกจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านกระบอก (ข้อมูลจาก Small Arms Survey เมื่อปี พ.ศ. 2561) โดยเฉลี่ยประชากรอเมริกัน 100 คน จะมีปืนในครอบครอง 120 กระบอก ซึ่งแสดงว่าชาวอเมริกัน 1 คนอาจมีปืนมากกว่า 1 กระบอก และอาจกล่าวได้ว่า สหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลก
กฎหมายควบคุมอาวุธปืน Gun Control Act 1968 (พ.ศ. 2511) ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ได้กำหนดขอบเขตแห่งเสรีภาพในการพกพาปืนที่ครอบครอง ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามพกพาปืนไปในสถานที่อ่อนไหว รวมถึงสถานที่สาธารณะหลายแห่ง เช่น จัตุรัสไทม์สแควร์ รถไฟใต้ดิน รวมทั้งที่จัดแคมป์ฤดูร้อน หรือสถานที่ซึ่งคนดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเงื่อนไขให้บุคคลที่ผลิตหรือซื้อขายอาวุธปืนจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลกลางก่อนซึ่งรวมไปถึงห้ามการขนส่งอาวุธระหว่างรัฐทั้งหมดไป หรือจากบุคคลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตในฐานะผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือนักสะสม และยังห้ามโอนใบอนุญาตโดยเจตนาไปยังกลุ่มบางกลุ่ม ซึ่งจัดอยู่ในประเภทขาดความรับผิดชอบหรืออาจเป็นอันตราย และวางข้อจำกัดในการนำเข้าอาวุธปืนที่มีราคาไม่แพง
ใบอนุญาตการล่าสัตว์และการขยายตัวของเมืองใหญ่ มีผลเป็นนัยสำคัญต่อการซื้อปืนพกที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า การซื้อปืนพกมีความสัมพันธ์กับอัตราอาชญากรรมรุนแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย ในทางกลับกันยังแสดงให้เห็นถึงนัยทางการตลาดที่ว่า กฎหมายควบคุมปืนนี้ ไม่ได้
ส่งผลกระทบให้การซื้อปืนพกของชาวอเมริกันลดลงแต่อย่างใด
จากสถิติเหตุอาชญากรรมร้ายแรงจากการกราดยิงที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ทำให้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 (2022) ศาลแห่งรัฐบาลกลางของสหรัฐ มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนของรัฐนิวยอร์กชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อเสรีภาพคนอเมริกันในการป้องกันตัวตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ครอบครองปืนในสหรัฐมีสิทธิพกพาอาวุธปืนไปในสถานที่ต่างๆ ได้ เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนจากอาชญากรรมร้ายแรงประเภทนี้ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองปืนในสหรัฐสามารถฟ้องร้องคัดค้านต่อกฎหมายควบคุมอาวุธปืนของรัฐนิวยอร์กได้ด้วย
ภายใต้ระบบกฎหมายของสหรัฐ มีหลักกฎหมายในเรื่องความรับผิดของบิดามารดา ผู้ปกครองเด็กต่อการกระทำของเด็กที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและความเสียหายกับบุคคลภายนอก (Parental Responsibility Law) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายบังคับใช้ทั่วไปในสหรัฐ จะแตกต่างกันเฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละรัฐเท่านั้น เช่น เงื่อนไขเรื่องอายุของเด็ก อัตราโทษ หรืออัตราค่าปรับ
โดยหลักกฎหมายทั่วไปของสหรัฐ บิดามารดาผู้ปกครองจะถูกกำหนดให้ “ต้องรับผิดแทน” ต่อการกระทำของบุตรหลาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับความผิดทางแพ่งและคดีอาญาของบุตรหลาน
แม้กฎหมายสหรัฐจะมีบทบังคับให้บิดามารดา และผู้ปกครองของเด็ก และเยาวชนต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำของเด็กและเยาวชนก็ตาม การที่ศาลโอ๊คแลนด์เคาน์ตี้รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา มีคำตัดสินของคณะลูกขุนว่า บิดามารดาของเยาวชนที่กระทำความผิดในการใช้ปืนยิงบุคคลอื่นเสียชีวิต ถือว่ามีความผิดฐานประมาททำให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย เป็นการตีความกฎหมายทั่วไปที่มีอยู่แล้วได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่ากฎหมายประกอบอื่นๆ ที่ใช้บังคับ
ย้อนกลับถึงเหตุการณ์กราดยิงโดยเยาวชนที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566
แม้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้บิดามารดาของเด็กต้องร่วมรับผิดต่อความผิดที่เกิดขึ้น และมีโทษทางอาญาก็ตาม เมื่อมีการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลของคดีคงไม่ถึงกับว่า มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
ในส่วนเยาวชนไทยผู้กระทำความผิดในการกราดยิงยังมีปัญหาในเรื่องจิตเวช ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินคดีแม้เมื่อหายป่วยแล้ว อาจไม่ต้องได้รับโทษหนักเหมือนอย่างในต่างประเทศ
ผลของการดำเนินคดีในประเทศไทยอาจไม่ถูกใจผู้คนส่วนใหญ่ แต่เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี