เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2567ที่ผ่านมา ผลการสำรวจความคิดเห็นหรือโพล สถาบัน พระปกเกล้า ซึ่งจัดทำโดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในหัวข้อ“ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี ช่วง 1 ปี หลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566” ได้สร้างความสนใจให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป
โพลนี้เก็บผลสำรวจความคิดเห็นจาก 1,620 ตัวอย่าง โดยวิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในทุกจังหวัดของประเทศรวมทั้งกรุงเทพมหานคร
ผลโพลปรากฏว่าพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง พิธา (ก้าวไกล) (46.9%) อันดับที่สอง ลุงตู่- พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ)(17.7%) อันดับสาม อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร (เพื่อไทย)(10.5%) และ อันดับสี่ เศรษฐา ทวีสิน(เพื่อไทย) เพียง(8.7%) ยังมีอีกหลายคน ที่ได้รับความนิยมให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีคะแนนน้อยมาก
นอกจากนี้ผลโพล ยังแสดงอีกว่า หากเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ พรรคก้าวไกลได้ 208ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ 105 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทยได้ 61 ที่นั่ง
จึงมีคำถามขึ้นมาว่า ผลโพลสถาบันพระปกเกล้าดังกล่าว จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
โดยทั่วไป ผลการสำรวจความคิดเห็นหรือโพล ความน่าเชื่อถือ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ 1) ความน่าเชื่อถือของผู้ทำผลสำรวจ 2) ความทั่วถึงของการตอบแบบสำรวจ 3) ประเภทคำถามในโพล จะมีการล็อกคำตอบให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ทำโพลมากน้อยเพียงใด
ในประเด็นความน่าเชื่อถือของผู้ทำโพล ที่เป็นสถาบันพระปกเกล้า ถือว่าเป็นที่ยอมรับในสังคม และทางการเมือง เพราะเป็นองค์กรกลาง ที่ให้ความรู้ทางด้านการเมืองการปกครอง
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลสำรวจ ความคิดเห็น มักจะมีข้อท้วงติงว่า เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพียงบางกลุ่ม ที่มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และอาจจะเข้าไม่ถึงทุกกลุ่มในสังคม
การสำรวจความคิดเห็นหรือโพล อาจเปรียบเทียบได้กับการชิมรสแกงในหม้อใหญ่ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องทานแกงให้หมดทั้งหม้อใหญ่ แล้วจึงจะตอบว่า แกงมีรสชาติอย่างไร การชิมแกงสามารถทำได้โดยคนเครื่องแกงที่อยู่ในหม้อให้เข้ากัน แล้วตักแกงชิมเพียงแค่หนึ่งช้อน ก็สามารถบอกได้ว่า แกงหม้อใหญ่มีรสชาติอย่างไร โดยไม่ต้องทานแกงทั้งหม้อใหญ่นั้น ที่สำคัญคือ ต้องคนส่วนผสมในแกงหม้อใหญ่นั้นให้เข้ากัน ก่อนที่จะชิมแกง
การสำรวจความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ต่างอะไรกับการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในตลาด ที่ผู้ขายสินค้าทำการสำรวจตลาด แล้วปรับปรุงสินค้าให้ถูกใจผู้บริโภค
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงตัวเหมือนกับเป็นพนักงานขาย หรือเซลส์แมนของประเทศไทยอยู่แล้ว ที่เดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก เพื่อชักชวนนักลงทุนนักธุรกิจ รายใหญ่ให้มาลงทุนในประเทศไทย หรือซื้อสินค้าของประเทศไทย
ในการเดินทางไปแต่ละประเทศ นายกเศรษฐาได้พบกับนักธุรกิจใหญ่รายใหญ่ ที่ได้รับการคัดกรองรายชื่อจากสถานทูตไทย สถานกงสุลไทย และทูตพาณิชย์ของไทยที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งนักธุรกิจใหญ่เหล่านั้นจะยินดีเข้าพบและคุยด้วย
จากนั้น รัฐบาลไทยได้ออกข่าวประหนึ่งราวกับว่า บรรดานักธุรกิจใหญ่ต่างประเทศ ได้ตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ทั้งที่เป็นการพูดคุยในเบื้องต้น การตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่ในประเทศไทย ของบริษัทใหญ่ๆ ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนไม่ว่าจากคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท
โดยภาพรวมแล้ว ยังไม่ปรากฏว่า มีนักธุรกิจรายใหญ่ จากต่างประเทศที่ได้พบนายกฯเศรษฐาแล้วตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่ ในประเทศไทยอย่างชัดเจน มีแต่รัฐบาลไทย ให้ข่าวสร้างภาพไปก่อนแล้ว
ไม่ว่าผลโพลทางการเมือง หรือทางการตลาดธุรกิจ จะเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นเพียงแค่แนวโน้มเท่านั้น ความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีความแน่นอน 100%
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี