ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 ซึ่งหมายความว่า ผู้ซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง มีสิทธิเปิดดูสินค้าก่อนได้ หากไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ มีสิทธิปฏิเสธชำระเงินและไม่รับสินค้า
ประกาศนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มนักช้อปในฐานะผู้บริโภคที่ชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมักมีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ
ช่วงการบังคับใช้มาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ระบบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นช่วงโอกาสทองของระบบการขายสินค้าบนออนไลน์
ผลจากกระแสความต้องการ หรืออุปสงค์ของนักช้อปทั้งหลาย ที่ต้องทำงานอยู่กับบ้าน หรือต้องกักตัวอยู่กับบ้านหรือสถานที่กักตัว ส่งผลให้ระบบการขายสินค้าออนไลน์ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของนักช้อป ทั้งแอประบบตัวแทนหน้าร้านออนไลน์ในการจำหน่าย เช่น LAZADA Shopee และระบบหน้าร้านออนไลน์ผ่านระบบโซเชียลออนไลน์ เช่น Facebook และ LINE ที่ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อจากผู้ขายตรง รวมไปถึง ธุรกิจระบบขนส่งสินค้าจากการสั่งซื้อออนไลน์ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เช่น KERRY Flash Express และยังรวมไปถึงระบบการชำระเงินค่าสินค้าออนไลน์ และการรับประกันสินค้า ที่พัฒนาตามอุปทาน
ท่ามกลางกระแสธุรกิจสินค้าออนไลน์ที่เฟื่องฟู ปัญหาการที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าออนไลน์ ไม่ตรงปก ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ในสื่อ การส่งเสริมการขาย ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมา
แม้จะมีระบบ เรียกเก็บเงิน หรือจ่ายเงินค่าสินค้าปลายทางในการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ยังเกิดปัญหา เพราะระบบการขนส่งและจัดส่งสินค้าแยกต่างหากจากกัน
เป็นเหตุให้อาจเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภค และผู้ขายสินค้าโดยตรง เมื่อการส่งสินค้าที่สั่งซื้อ ทั้งรูปลักษณ์ และคุณภาพไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ เป็นเหตุให้ผู้ส่งสินค้าไม่ได้รับเงินค่าส่งสินค้า เพราะผู้ซื้อไม่ยอมชำระเงิน ผู้ส่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการนำสินค้ากลับคืนผู้ขายเพื่อเปลี่ยนสินค้าในราคาที่ตกลงกันไว้แต่เดิม หรือผู้ขายไม่รับคืนหรือเปลี่ยนสินค้าในกรณีที่มีการชำระราคาสินค้าล่วงหน้าแล้ว ผู้ขายปิดร้านออนไลน์หนี
ผู้ส่งมักถูกตำหนิและต่อว่า ในกรณีกล่องบรรจุถูกเปิดออกดูแล้ว
ก่อนมีประกาศดังกล่าว ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงความต้องการ ถูกแก้ไขด้วยมาตรการปฏิบัติที่ว่า บรรดาคำพรรณาโฆษณาเสนอขายสินค้าหรือบริการในรูปแบบใดๆ ไม่ว่าจะปรากฏผ่าน แผ่นโฆษณา แผ่นพับ สื่อวีดีโอหรือไลฟ์สดโดยฟูลเอนเซอร์ผ่านระบบโซเชียลออนไลน์ถือเป็นสาระสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากผู้ซื้อสินค้าได้รับสินค้าหรือบริการไม่ตรงคำโฆษณา ถือว่าผู้ขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 2415/2552 และฎีกาที่ 1592/2554
นอกจากนี้ ศาลยังรับฟังพยานหลักฐาน ในกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้บันทึกคลิปวีดีโอไว้เมื่อตอนรับของ และเปิดหีบห่อที่แสดงให้เห็นว่า ได้รับสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์ ไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือตกลงตั้งแต่แรก
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 นี้ ถือเป็นกฎหมายเฉพาะประเภทหนึ่งที่ออกมามีผลบังคับใช้ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉพาะกรณีการชำระเงินค่าสินค้าปลายทาง โดยเรียกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ว่า “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในการที่ผู้บริโภคจะมีสิทธิปฏิเสธ ไม่รับสินค้า ที่ไม่ได้สั่ง หรือที่ไม่ตรงปก ตรงความต้องการผู้บริโภคตามที่ผู้ขายได้ประกาศโฆษณาไว้ ซึ่งผู้ส่งสินค้านำมาส่งให้แก่ผู้บริโภค โดยให้บรรดาผู้เกี่ยวข้อง (ผู้ขายสินค้า ผู้ขนส่ง ตัวแทนผู้ขายสินค้า โดยผ่านแอปโฆษณาและสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินค่าสินค้า/บริการ และผู้ประกอบธุรกิจธุรกรรมทางการเงินในการชำระราคาสินค้าออนไลน์) ให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
ผู้ส่งสินค้าต้องรับผิดชอบในการนำส่งสินค้าของผู้ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค และยังมิได้รับเงินค่าส่งจากผู้ขาย จนกว่าจะพ้นกำหนด 5 วัน นับแต่วันที่ผู้ขายสินค้าได้รับเงินจากผู้บริโภค และให้มีความชัดเจนในด้านพยานหลักฐานประกอบความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะให้สิทธิผู้บริโภคตรวจสอบสินค้า ด้วยการเปิดหีบห่อบรรจุภัณฑ์สภาพตัวสินค้า และถ่ายภาพหรือวีดีโอแสดงเป็นพยานหลักฐานรับฟังได้ตามกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมผู้บริโภคมักถูกบังคับให้ต้องยอมรับสินค้านั้นโดยปริยาย และผู้บริโภคมักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบโดยไม่มีการร้องเรียน หรือฟ้องร้อง เนื่องจากความเสียหายจากมูลค่าสินค้าไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการร้องเรียน ฟ้องร้อง
ปัญหานี้ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union :EU) ได้มีแนวปฏิบัติเชิงมาตรการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภค ภายใต้เหตุผลที่ว่า การซื้อขายสินค้าลักษณะนี้ ถือเป็นสัญญาที่คู่สัญญาต่างอยู่ห่างไกลกันโดยระยะทาง ผู้บริโภคจึงไม่มีโอกาสได้พินิจพิจารณาสินค้าก่อนทำการตกลงซื้อขาย อันเป็นการส่งเสริมเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ถือเป็นมาตรการสากลที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสหภาพยุโรป (European Union Directive) ในเรื่องดังกล่าว มาตรการนี้เป็นการให้สิทธิผู้บริโภค มีสิทธิในการเลิกสัญญา ทั้งกรณีทั่วไป ตามกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวกับสัญญา และในกรณีพิเศษ (Withdrawal Right) ที่เป็นการให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการเลิกสัญญา เมื่อไม่พึงพอใจในสินค้าหรือบริการ ภายใต้เงื่อนเวลาที่กำหนด โดยส่งสินค้าคืน หรือรับเงินค่าบริการคืน ที่เรียกว่า“Cooling-off Period” เป็นสิทธิฝ่ายเดียวของลูกค้าในฐานะผู้บริโภคที่จะเลิกสัญญา เมื่อลูกค้าไม่พึงพอใจในสินค้าหรือบริการ และถอนตัวออกจากข้อผูกพันในสัญญาซื้อขายและสัญญาทางการเงิน โดยมิต้องมีสาเหตุในการเลิกสัญญาและพ้นจากความรับผิดใดๆ ภายในระยะเวลา 14 วัน นับจากได้รับสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินที่ผู้บริโภคชำระไปแล้ว ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับการแจ้งสิทธิ ซึ่งแนวปฏิบัติตามมาตรการนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ แตกต่างกันเพียงไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลา
กฎระเบียบใหม่ที่ถือเป็นกฎหมาย เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่เรียกว่า มาตรการส่งดี (Dee-Delivery) แม้จะเป็นเรื่องดีที่มีกฎหมายใหม่ บังคับใช้ แต่นับว่า เป็นการริเริ่มที่ช้านานเกินไป โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ขยายตัวเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี