เวลาเรียนรู้วิชาการเงิน คนจํานวนไม่น้อยติดนิสัยเรียนท่องจําแบบนกแก้วนกขุนทอง เรื่องนี้ต้องแบบนี้ เรื่องนั้นต้องแบบนั้น เรียนแบบจำตัวอย่าง ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งในทุกบริบท แล้วก็นำไปใช้แบบผิดเพี้ยน
ความเข้าใจผิดเรื่องหลักการเงินถือเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก เพราะเมื่อเข้าใจผิด ก็ลงมือทำผิด แล้วก็จะได้ผลลัพธ์แบบผิดๆ ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่หายนะทางการเงิน
ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งเล่าเรื่องของเขาให้ฟังว่า ชีวิตกำลังไปได้สวยและใกล้จะมีอิสรภาพการเงินแล้ว เพราะเขาสะสมทรัพย์สินเป็นคอนโดฯให้เช่าเพิ่มขึ้นทุกปี
เมื่อถามลึกลงไป เลยได้ความว่า คอนโดฯให้เช่าทั้ง 4 ห้องของเขามีคนเช่าเต็มทุกห้อง แต่ปรากฏว่าไม่มีห้องไหนเลยที่มีกระแสเงินสดบวก ทุกห้องค่าเช่าไม่พอจ่ายเงินผ่อนธนาคารและค่าส่วนกลาง ทำให้ทุกเดือนเขาต้องควักเงินเดือนตัวเองเติมเข้าไป เพื่อเลี้ยงสภาพคล่องของคอนโดฯทั้ง 4 ห้องอยู่ตลอด
พอถามว่าทำไมถึงเลือกลงทุน ทั้งๆ ที่กระแสเงินสด “ติดลบ” พี่แกก็ตอบกลับมาว่า “ทำตามหนังสือพ่อสอนลูก” (เล่นเอาคนแปลหน้าชาไปเลย)
“บ้านเป็นหนี้สิน แต่บ้านเช่าเป็นทรัพย์สิน”
“กู้เงินซื้อบ้านเป็นการสร้างหนี้เลว แต่กู้เงินซื้อคอนโดฯให้เช่าเป็นหนี้ดี”
(อันนี้คือแนวคิดของพี่เค้านะครับ อย่าไปทำตามนะ!!)
หลังได้ฟังยอมรับว่าตกใจ (แอบเสียใจเล็กๆ ด้วยแหละ) ไม่อยากให้คนที่อ่านงานแปลของเราเข้าใจผิดด้วยการท่องจำอะไรแบบนี้ เลยพยายามอธิบายและบอกเขาไปว่า ...
“ที่จริงหนังสือบอกเอาไว้ว่า ลงทุนอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วถ้ามันทำให้เราต้องควักเงินออกจากกระเป๋าทุกเดือน (เช่น โปะเงินผ่อนเหมือนในกรณีนี้) ก็ถือว่าเป็น “หนี้สิน” ตามแนวคิดของโรเบิร์ตทั้งหมดนะครับ ดังนั้นถ้าเราลงทุนแล้วกระแสเงินสด “ติดลบ” ทุกเดือน สิ่งที่เราลงทุนก็จะกลายเป็น “หนี้สิน” ไม่ใช่ “ทรัพย์สิน”
อย่างคอนโดฯทั้ง 4 ห้องของพี่ ที่ลงทุนแล้วติดลบทั้งหมด ก็เป็น “หนี้สิน” ตามคอนเซ็ปต์ของหนังสือเหมือนกัน ต้องรีบวางแผนให้กลับมาเป็นบวกนะครับ คิดเอาง่ายๆ ถ้าคอนโดฯห้องหนึ่งผ่อนกัน 25 ปี แล้วพี่ต้องโปะเพิ่มทุกเดือนแบบนี้ กว่าหนี้จะหมด มันอีกนานเลยนะครับ”
ได้ฟังผมอธิบาย แกโกรธกระฟัดกระเฟียด ด่าใส่ผมใหญ่เลย หาว่าแปลหนังสือแท้ๆ แต่ไม่เข้าใจ สรุปสุดท้ายแกเลือก ไม่ฟังผม แล้วสวนกลับมาด้วยสูตรอมตะแห่งการลงทุนอสังหาฯให้เช่า ที่หลายคนมักถูกหลอกให้เชื่อกัน นั่นคือ
“ติดลบไม่เป็นไร ถ้ายังผ่อนไหว ถึงยังไงวันหนึ่งคอนโดฯทุกห้องก็ต้องเป็นของผมอยู่ดี”
(ซึ่งก็ถูกของพี่เขา ถ้าเงินเดือนเขายังเหลือผ่อนส่วนต่างได้และทนไหว ไอ้โค้ชมึงก็อย่าไปเสือกเขา 555)
ผมได้แต่ยิ้ม ว่าจะไม่ตอบอะไร เพราะคิดว่าเขาคงไม่อยากฟังอะไรแล้ว แต่ก็ยังไม่วายให้คำแนะนำตบท้ายแกไปเบาๆ ว่า “ถ้าลงทุนแล้วติดลบ พี่จะลงทุนได้ไม่กี่หลังหรอกครับ เพราะพี่จะเติมกระแสเงินสดไม่ไหวในที่สุด แต่ถ้าลงทุนแล้วกระแสเงินสดเป็นบวก พี่จะลงทุนกี่หลังก็ได้ ตราบเท่าที่เครดิตพี่ลงทุนได้เพราะไม่ต้องควักเงินตัวเองไปสนับสนุนมัน”
“นอกเหนือจากนี้ การที่กระแสเงินสดเป็นบวกทุกเดือน ยังทำให้ชีิวิตพี่สบายใจ ไม่ต้องวิ่งหาเงินไปเติมให้กับการลงทุนที่ติดลบทุก 30 วัน คนเราเมื่อการลงทุนเป็นบวก ไม่ร้อนใจ เราก็จะคิดอ่านกับการลงทุนเราได้ดีขึ้น มี option หรือทางเลือกในการตัดสินใจกับทรัพย์สินที่ลงทุนได้มากกว่าการลงทุนที่ติดลบอย่างมากเลยทีเดียว”
สุดท้ายความรู้ที่เราได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง หากไม่ได้ทวนสอบความเข้าใจก่อนลงมือทำ บางทีก็อาจพาชีวิตการเงินไปสู่ความเสี่ยงได้เหมือนกันเลยได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดเรื่องร้ายๆ ทำให้แผนการลงทุนของพี่เค้าได้รับผลกระทบ
เช่น หากถูกลดเงินเดือนขึ้นมา จะมีเงินไปโปะส่วนต่างที่ติดลบหรือไม่ หรือถ้าไม่มีคนเช่าห้องของพี่เขาสัก 1 ห้อง เป็นเวลาสัก 3 เดือนแบบนี้จะทำให้แผนการลงทุนเสียหายหรือเปล่า หรือถ้าเกิดสะดุดในการผ่อนชำระขึ้นมา เนื่องจากแบกติดลบไว้หลายห้อง จะมีผลอย่างไรต่อการรีไฟแนนซ์ เพื่อลดค่างวดผ่อนในอนาคต ฯลฯ
โดยส่วนหลังอ่านหนังสือจบสักเล่ม หรือแค่จบสักบท ผมมักจะหยิบเรื่องที่ได้อ่านมาตั้งคำถามในบริบทที่แตกต่างกับคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เราถามบ้าง เขาถามบ้าง (ปัจจุบันอาจใช้การนั่งอ่านข้อมูลในอินเตอร์เนตแทน) ช่วยให้ความเข้าใจในสิ่งที่สนใจมีมากขึ้น เวลานำไปใช้ก็จะมีโอกาสเกิดผลในทางบวกมากขึ้น และใช้ได้ในบริบทที่เหมาะกับตัวเราเองมากขึ้นด้วย
ที่สําคัญ คือ หัดเอะใจ กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบ้างว่าที่สิ่งที่เราคิดเราเชื่อ เมื่อเราทําแล้วชีวิตเราดีขึ้นหรือเปล่า
ถ้าใช่ .. ก็ลุยต่อเดินหน้าต่อ
แต่ถ้าไม่ใช่ ....... หยุดพัก หยุดเช็ค หยุดฟัง เสียงทัก เสียงเตือนบ้าง ก็ดีเหมือนกันครับ
ปล.๑ เคสนี้เกิดขึ้นตอนเริ่มเป็นมันนี่โค้ชใหม่ๆ ถ้าวันนั้นใจเย็นหน่อย คงอธิบายพี่เค้าได้ดีกว่านี้ ไม่ตอบโพล่งหักหน้าพี่เขา จนอีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี และทำให้เขาปิดใจรับฟังสิ่งที่เราพยายามจะเล่าจะบอก
ปล.๒ คนที่ซื้อบ้านหลายคน เวลาอ่านพ่อรวยสอนลูกมักจะสงสัยว่า “ทำไม? บ้านเป็นหนี้สิน” เอาจริงๆ ตัวบ้านน่ะเป็น “ทรัพย์สิน” แหละ(ก็มันมีมูลค่า) แต่เราซื้อด้วยเงินกู้ธนาคาร จึงทำให้เรามีภาระ “หนี้สิน”ที่ต้องผ่อน
ในทางบัญชี เวลาลงในงบการเงิน คนกู้ซื้อบ้าน ก็จะลง “มูลค่าบ้าน”ไว้ในช่อง “ทรัพย์สิน” และลง “เงินกู้ยืมธนาคาร” ไว้ในช่อง “หนี้สิน”แต่ในหนังสือพ่อรวยสอนลูก โรเบิร์ต คิโยซากิ เขาใช้เกณฑ์ “การสร้างกระแสเงินสด” ที่เกิดจากสิ่งที่เราถือครองว่า เป็น “+” หรือ “-”
ถ้าเป็น + ก็ให้เรียกทรัพย์สิน ถ้าเป็น - ก็เป็นหนี้สิน ซึ่งอาจขัดความรู้สึกของใครหลายคน (ก็บ้านมันตั้งอยู่ทนโท่ขนาดนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินได้ไง)
ปล.๓ เคสลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าแล้ว “ติดลบ” สามารถแก้ไขได้โดย 1) เพิ่มค่าเช่า หรือ 2) รีไฟแนนซ์เพื่อลดยอดผ่อนเพื่อทำให้กระแสเงินสดกลับมาเป็นบวก
การลงทุนที่สร้างกระแสเงินสดต้องเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ “ถือได้เงิน ขายได้กำไร” แต่ถ้าผิดพลาดอะไรก็แก้ไขได้ ที่แย่คือแก้ไม่ทัน เพราะกระแสเงินสดติดลบ และยังไม่ถึงเวลารีไฟแนนซ์ได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี