nn แม้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ภาคการท่องเที่ยวจะสวมบทพระเอกในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกนั้นยังเป็นเครื่องยนต์หลักและตัวใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยเพราะมูลค่าการส่งออกไทยนั้นคิดเป็นกว่า 60% จีดีพีไทย และตัวเลขล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ การส่ออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,766 ล้านบาท)หดตัว 0.3% ซึ่งกลับมาหดตัวเล็กน้อย สาเหตุหลักจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาลจึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ตัวเลข6 เดือนแรกของปี การส่งออก มีมูลค่า 5,191,014 ล้านบาท ขยายตัว 7.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 5,437,480 ล้านบาท ขยายตัว 8.3% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 246,466 ล้านบาท
ดังนั้นช่วงที่เหลือของปีการส่งออกของไทยจะเป็นอย่างไรก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตาม ซึ่ง SCB EIC ธ.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ จากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. ปีก่อนหดตัวมากถึง -10.3% ตามเศรษฐกิจโลกที่ไม่สดใสนักในขณะนั้นประกอบกับการส่งออกทองคำหดตัวมากถึง -53.7% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมโลกยังเอื้อต่อการส่งออกไทยอยู่บ้าง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 แต่ข้อมูลเดือนล่าสุดทยอยปรับลดลงต่ำกว่า 50 ในประเทศพัฒนาแล้ว SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.6% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน และมุมมอง ณ มิ.ย. 2024) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ภาคการผลิตโลก และราคาสินค้าส่งออกที่มีทิศทางเติบโตดีขึ้นกว่ามุมมองก่อนหน้านี้
ขณะที่ Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีสัญญาณชะลอตัวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 ให้ฟื้นตัวได้จำกัด โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิต Flash PMI Manufacturing เดือนก.ค. ของประเทศหลักต่างหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง โดยสหรัฐฯ กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ส่วนญี่ปุ่นกลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน ขณะที่ยุโรปหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 25 นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง สอดคล้องกับดัชนียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภค-บริโภคล่าสุดของจีนที่ชะลอตัวลงในเดือน มิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนซึ่งปรับลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้แรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อสินค้าต่างประเทศของจีน ซึ่งรวมไปถึงสินค้าส่งออกจากไทย โดยการส่งออกไทยไปจีนเดือนล่าสุดกลับมาหดตัวที่ -12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ทั้งนี้ เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักที่ต่างชะลอตัว สะท้อนว่าอุปสงค์ที่มีต่อสินค้านำเข้าของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ต่ำ อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สะท้อนจากค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องโดยล่าสุด (25 ก.ค.) ปรับขึ้นสู่ระดับ 5,806 ดอลลาร์ต่อตู้ หรือขยายตัว 9.2% จากเดือนก่อน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธ.กสิกรไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แนวโน้มการส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวได้ต่ำลงกว่าครึ่งปีแรก ที่ขยายตัว 2.0%YoY จากปัจจัยเสี่ยงเชิงลบที่เพิ่มขึ้น เช่น 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแรง อาทิ สหรัฐฯ และจีน ซึ่งการส่งออกไทยไปยังตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 30% ของการส่งออกไทยทั้งหมด นอกจากนี้ สหรัฐฯมีปริมาณสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้น 6% ตั้งแต่ต้นปี จึงอาจส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้าในระยะข้างหน้า2.ไทยมีได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกจำกัด เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยสินค้าที่ไทยส่งออกมีมูลค่าและความซับซ้อนค่อนข้างต่ำสะท้อนจากการส่งออกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น โดยตัวเลขการส่งออกเกาหลีใต้ 20 วันแรกของเดือน ก.ค. 2567 ขยายตัวถึง 18.8% YoY ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% โดยยังคงต้องติดตามประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน
สำหรับในปี 2568 SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีเติบโตใกล้เคียงปีนี้และปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นจากปีนี้ จากความต้องการบริโภคสินค้าภาคการผลิตที่มากขึ้น ภายใต้แรงกดดันปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการส่งออกของไทยที่ไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้เต็มที่ ตลอดจนผลการเลือกตั้ง
สำคัญในโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มจะทำให้คู่ค้าสำคัญของไทยมีลักษณะเป็น Protectionism และใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหา China overcapacity ยังเป็นความเสี่ยงและปัจจัยกดดันสำคัญที่ต้องจับตามอง เนื่องจากทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนในตลาดโลกได้ยากขึ้น
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี